Mr.Magorium's wonder emporium “คุณต้องเชื่อ ถึงจะได้เห็น”

ข่าวกีฬา Thursday December 20, 2007 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สหมงคลฟิล์ม
“คุณต้องเชื่อ ถึงจะได้เห็น”
สัญชาติ อเมริกัน
ประเภท แฟนตาซี
อำนวยการสร้าง ริชาร์ด เอ็น แกลดสตีน (Finding Neverland, The Bourne Identity, The Cider House Rules)
กำกับ/เขียนบท แซค เฮล์ม (มือเขียนบทจาก Stranger than Fiction)
นำแสดง ดัสติน ฮอฟแมน (The Graduate, Rain Man, Hook, Finding Neverland, Meet the Fockers) นาตาลี พอร์ตแมน (Star Wars Episode 1-3, V for Vendetta, Closer, Paris, Je t’aime)
กำหนดฉาย 17 มกราคม 2007
จัดจำหน่าย มงคลเมเจอร์
Official Site http://www.magorium.com/
เกี่ยวกับภาพยนตร์
ยินดีต้อนรับสู่ร้านขายของเล่นของมิสเตอร์มาโกเรี่ยม ที่ประหลาด มหัศจรรย์ และน่าตื่นตะลึงที่สุดในโลก มันคือสุดยอดร้านของเล่นที่ของทุกชิ้นมีชีวิต รวมทั้งตัวร้านเองด้วย ความน่าพิศวงและเหลือเชื่อทุกอย่างเกิดขึ้นที่นี่ทุกวัน ไม่เคยหยุดหย่อน กระทั่งวันนี้
เมื่อมิสเตอร์มาโกเรี่ยม เจ้าของร้านขายของเล่นมหัศจรรย์วัย 243 ปี (ดัสติน ฮอฟแมน) ประกาศยกร้านให้ผู้จัดการสาวน้อย มอลลี่ มาฮันนี่ ที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง (นาตาลี พอร์ตแมน) ร้านก็แสดงความเกรี้ยวกราดออกมาทันที และเมื่อเฮนรี่ นักบัญชีผู้ไม่เชื่อในความมหัศจรรย์ (เจสัน เบตแมน) เข้ามาตรวจสอบของเล่นเลโก้และลินคอล์นล็อกส์ ร้านขายของเล่นที่เคยมีสีสันระยิบระยับก็กลับเปลี่ยนไป ของเล่นจอมซนทุกชิ้นยังอยู่ที่เดิม แต่พวกมันกลายเป็นสีเทาและเงียบงัน มีเพียงมาฮันนี่และเฮนรี่ กับความช่วยเหลือจากเด็กชายอัจฉริยะวัย 9 ขวบ (แซค มิลส์) เท่านั้นที่สามารถปลุกร้านนี้ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง หากพวกเขาค้นหาความอัศจรรย์ในตนเองพบ
เปิดประตูร้าน
ในร้านขายของเล่นสุดอัศจรรย์ของมิสเตอร์มาโกเรี่ยม จินตนาการสำคัญที่สุดและเรื่องสนุกทุกเรื่องเกิดขึ้นจริง ของเล่นที่นี่ล้วนมีชีวิต ลูกบอลเด้งตัวเองได้ สลิงกี้ทำได้มากกว่ายืดหดตัวไปมา ฝูงปลาแหวกว่ายกลางอากาศ สัตว์สตัฟขยับตัวได้ และการบ้านดีๆกลายเป็นรางวัลใหญ่ในพริบตา ตัวลูกค้าเองก็เปิดใจกว้างรับความมหัศจรรย์ แต่หลังจากเปิดบริการมานานกว่า 200 ปี จู่ๆร้านแห่งนี้ก็นิ่งงันและทำบางอย่างที่ยิ่งกว่าเหลือเชื่อ นั่นก็คือหยิบยื่นโอกาสสุดท้ายในการค้นพบพรวิเศษให้กับหญิงสาวผู้ขาดความมั่นใจกับชายหนุ่มผู้ปฏิเสธความอัศจรรย์ ซึ่งพรวิเศษนั้นก็คือการรู้จักประหลาดใจและตกใจกับเรื่องเหลือเชื่อและสิ่งมหัศจรรย์
ร้านขายของเล่นของมิสเตอร์มาโกเรี่ยมถือกำเนิดขึ้นในจินตนาการของมือเขียนบทดาวรุ่งและผู้กำกับหน้าใหม่ แซค เฮล์ม ที่เคยทำงานในร้านขายของเล่นมาก่อน ผลงานล่าสุดที่ทำให้เฮล์มเป็นที่จับตามองก็คือบทภาพยนตร์สุดสร้างสรรค์เรื่อง Stranger than Fiction ที่นำแสดงโดย วิล เฟอร์เรล และกำกับโดยมาร์ค
ฟอร์สเตอร์ ขณะเรียนการแสดงอยู่ที่มหาวิทยาลัยเดอพอล ในชิคาโก เฮล์มพบว่าตนเองได้แรงบันดาลใจจากงานพาร์ทไทม์ในร้านขายของเล่นสุดหรรษา ที่ทำให้เขาเริ่มเขียนบทหนังเปี่ยมจินตนาการและมนต์สะกดเรื่องนี้
“ร้านขายของเล่นที่ผมทำงานอยู่ตอนนั้นมีของเล่นหลากหลายเหมือนร้านของมิสเตอร์มาโกเรี่ยม แต่เล็กกว่ามาก” เฮล์มเล่า “แล้วบ่ายแก่ๆของวันฝนตกที่น่าเบื่อวันหนึ่ง ตอนที่ไม่มีลูกค้าเข้าร้าน ผมก็ได้ไอเดียเรื่องร้านขายของเล่นที่มีเจ้าของเป็นชายอายุ 243 ปี ซึ่งเรื่องนั้นอยู่ในสมุดบันทึกของผมมาตั้งนานแล้ว”
หลายปีต่อมา ตอนที่เฮล์มอยู่ในฮอลลีวู้ดและมองหาไอเดียสำหรับบทหนังเรื่องแรก เขาก็กลับไปนึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับร้านขายของเล่นมหัศจรรย์อีกครั้ง “ผมสนใจไอเดียนี้มาตลอด” เฮล์มกล่าว และตอนนี้ เมื่อเริ่มเขียนอย่างจริงจัง เขาก็พบว่าแรงบันดาลใจพุ่งเข้ามาหาเขาอย่างรวดเร็ว จากแหล่งที่หลากหลายและไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็น ผลงานแนวเหนือจริงของเรเน่ มากริตต์, อารมณ์ขันบ้าระห่ำของพี่น้องมาร์กซ์ ไปจนถึงบทละครสำรวจความจริงของแซมมวล เบ็คเค็ท, ทอม สต็อปพาร์ด และฮาโรลด์ พินเตอร์ แม้กระทั่งสิ่งประดิษฐ์ของรูบี้ โกลด์เบิร์ก และความหฤหรรษ์และเพ้อฝันของละครหุ่น
“หนังเรื่องนี้มีทุกอย่างที่ผมรักและคิดว่าน่าตื่นเต้น, สนุก, ซุกซน” เฮล์มกล่าว แม้จะเป็นภาพยนตร์เบาสมองและขี้เล่น แต่มันก็อัดแน่นไปด้วยความคิดเกี่ยวกับเวลา, ความตาย, เอกัตภาพ และมันจะทิ้งบางอย่างที่อัศจรรย์ไว้ให้คุณหลังจากดูจบ
หัวใจของหนังเรื่องนี้ก็คือภาพร้านขายของเล่นในฝันของเฮล์มที่เขาบอกว่า “ประหลาด, มหัศจรรย์ และเหลือเชื่อที่สุดในโลก” เฮล์มเล่าต่อว่า “นิทานเบื้องหลังเรื่องนี้ก็คือมิสเตอร์มาโกเรี่ยม นักประดิษฐ์ของเล่นบุคลิกประหลาดผู้มีอายุยืนยาว เดินทางมายังอเมริกาเมื่อศตวรรษที่ 19 และก่อตั้งร้านขายของเล่นนี้ขึ้นมา เมื่อเร็วๆนี้ เขาได้พบความภักดีในตัวสาวน้อยผู้จัดการร้านมือใหม่ มอลลี่ มาฮันนี่ และหวังจะยกร้านนี้ให้เธอ เพราะถึงเวลาแล้วที่เขาต้องลาโลกนี้ไป แต่ปัญหาคือมอลลี่ยังมองไม่เห็นความพิเศษในตัวเอง ขณะเดียวกัน มิสเตอร์มาโกเรี่ยมก็จ้างนักบัญชีคนหนึ่งเข้ามาตรวจสอบมูลค่าร้าน นั่นก็คือ เฮนรี่ ชายหนุ่มผู้เชื่อในตัวเลข, กฎระเบียบ มีความคิดแบบผู้ใหญ่ และไม่เข้าใจว่าร้านขายของเล่นแห่งนี้มีความพิเศษอย่างไร เมื่อทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป ของเล่นหยุดเคลื่อนไหว คำถามคือ มันเป็นเพราะมิสเตอร์มาโกเรี่ยมกำลังจะจากไป หรือเพราะมาฮันนี่ไม่เชื่อตัวเองว่าจะสืบทอดร้านนี้ได้ หรือเป็นเพราะการมาของเฮนรี่กันแน่ แล้วทำอย่างไรร้านถึงจะกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม
Mandate Picture ที่เคยอำนวยการสร้าง Stranger than Fiction ซึ่งเป็นฝีมือการเขียนบทของเฮล์ม เข้ามารับหน้าที่นำเรื่องราวนี้สู่จอภาพยนตร์ และให้โอกาสเฮล์มทำในสิ่งที่ใฝ่ฝันมาตลอด นั่นก็คือให้โอกาสเขากำกับหนังที่เขาเขียนบทเอง “พวกเขาให้โอกาสผมถ่ายทอดจินตนาการตอนเขียนบทออกมาเป็นภาพ ซึ่งมันดีมากที่ได้ทำหนังโดยไม่ต้องสงสัยว่าคนเขียนบทเขาคิดอะไรตอนเขียน”
ในเวลาเดียวกันนั้น ผู้อำนวยการสร้าง ริชาร์ด เอ็น แกล็ดสตีน ก็เข้ามาช่วยให้โปรเจ็คต์นี้เดินหน้าเร็วขึ้น แกล็ดสตีนเป็นแฟนหนัง Stranger than Fiction อยู่แล้ว และเขารู้สึกชอบความสนุกล้นจินตนาการของหนังเรื่องนี้มาก “ผมชอบที่บทหนังนำเสนอเรื่องราวของเวทย์มนตร์ในรูปแบบใหม่ และความคิดที่ว่าคุณต้องเชื่อก่อน ความมหัศจรรย์ถึงจะเกิด แล้วผมก็ชอบอารมณ์ขันกับอารมณ์โดยรวมของหนังที่สดใหม่และไม่เหมือนใคร มีอะไรดีๆหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ที่จะทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่รู้สึกสนุกไปกับมัน”
เฮล์มรู้สึกประทับใจทุกอย่างที่แกล็ดสตีนดำเนินการให้งานสร้าง “จิมกับผมเรียนรู้อะไรมากมายจากริชาร์ด ตั้งแต่เตรียมบทหนังให้พร้อมสำหรับการถ่ายทำ คัดเลือกนักแสดง ไปจนถึงการถ่ายทำและวางองค์ประกอบภาพ” เฮล์มกล่าว “ทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประสบการณ์การอำนวยการสร้างหนังอันยาวนานของริชาร์ด”
แกล็ดสตีนเองก็ดีใจที่ได้ทำงานในหนังที่มีเจตนาบริสุทธิ์เช่นนี้ “บรรยากาศมหัศจรรย์ของบทหนังถูกขยายเมื่อถูกถ่ายทอดสู่จอภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นหนังจึงยังคงตลก, อบอุ่น และน่าติดตาม แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือสมจริง แม้แต่ฉากที่อัศจรรย์ที่สุดในหนังก็ยังดูสมจริง ที่น่ารักก็คือร้านขายของเล่นแห่งนี้เป็นที่ที่ทุกคนรู้สึกเชื่ออย่างแท้จริง”
ทำความรู้จักผู้จัดการร้าน มอลลี่ มาฮันนี่
หัวใจของ Mr. Magorium’s Wonder Emporium คือ มอลลี่ มาฮันนี่ สาวน้อยผู้จัดการร้านที่มีความคิดสร้างสรรค์แต่ยังไม่พร้อมออกสู่โลกแห่งความเป็นจริง มอลลี่เคยทำงานละครเพลงมาก่อน เธอจึงชอบพิศวงและหรรษาของงานนี้ แต่ก็รู้สึกหงุดหงิดตัวเองที่ทำอะไรไม่เคยสำเร็จสักอย่าง เธอมักเริ่มต้นทำสิ่งต่างๆด้วยความกระตือรือร้นเต็มเปี่ยม ก่อนจะเริ่มเนือยตอนกลางๆ และในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จ เมื่อมิสเตอร์มาโกเรี่ยมต้องการยกร้านขายของเล่นหนึ่งในล้านนี้ให้เธอ มอลลี่จึงกลัวว่าตัวเองจะไม่สามารถสืบทอดร้านนี้ได้ เพราะเธอไม่มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำและยังไม่เข้าถึงความมหัศจรรย์ดีพอ
ในการสร้างตัวละคร มอลลี่ มาฮันนี่ ให้มีชีวิตขึ้นมา โดยมีทั้งเสน่ห์, ความสนุกสนาน, ความไม่มั่นใจในตัวเองที่ซ่อนศักยภาพเปี่ยมล้นไว้ภายใน ทีมงานทุกคนรู้ดีว่าต้องอาศัยนักแสดงที่เก่งมากๆ และเห็นพ้องต้องกันว่าตัวเลือกแรกที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือ นาตาลี พอร์ตแมน ผู้เข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก Closer และยืนอยู่แถวหน้าของนักแสดงหญิงรุ่นเดียวกัน บทบาทที่เธอแสดงนั้นหลากหลายและน่าประทับใจ ตั้งแต่หนังแฟนตาซีอย่าง Star Wars ของจอร์จ ลูคัส ไปจนถึงหนังผู้ใหญ่อารมณ์ซับซ้อนอย่าง Closer ของไมค์ นิคโคล
แล้วแซค เฮล์ม ก็ต้องแปลกใจและดีใจสุดขีดเมื่อนาตาลี พอร์ตแมน ตอบตกลง “นักแสดงคนแรกที่ผมอยากให้มารับบทมอลลี่ มาฮันนี่ คือนาตาลี พอร์ตแมน” เฮล์มเล่าด้วยความปลื้ม “ถ้าจำไม่ผิด เราส่งบทหนังให้เธอวันพฤหัส พอวันจันทร์เธอก็ตอบตกลงกลับมา เราดีใจกันสุดๆ เพราะโจทย์ใหญ่ได้รับการแก้ไขไปเปลาะหนึ่งแล้ว”
“แซคห่อบทหนังใส่กล่องของขวัญผูกโบสีแดงส่งมาให้ฉัน” พอร์ทแมนเล่า “ข้างในนั้นเป็นจดหมายแสนสวยเขียนมาขอร้องให้ฉันอ่านบทหนังเรื่องนี้ ฉันเองเคยอ่าน Stranger than Fiction มาก่อนและชอบมาก ฉันก็เลยนั่งลงอ่าน Mr.Magorium และหลงรักงานเขียนของเขาอีกครั้ง แซคมีมุมมองต่อโลกที่สวยงามและชัดเจน ซึ่งสดใสน่าไปดูมาก โดยเฉพาะในยุคที่มีแต่ความเกลียดชังแบบนี้ ฉันชอบบทหนังเรื่องนี้มาก ฉันว่าวิธีมองโลกของ Mr. Magorium เป็นอะไรที่สดใสและจรรโลงใจ และสามารถสร้างความสุขให้ผู้คนได้”
แรงผลักดันของงานสร้างมาจากการตกลงรับแสดงของพอร์ตแมน “นาตาลีกลายเป็นแรงขับเคลื่อนของหนังทั้งเรื่อง” เจมส์ การาเวนตี กล่าว “เธอสวมบทมาฮันนี่ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เธอสร้างให้ตัวละครมีชีวิตขึ้นมาจากหน้ากระดาษ และกลายเป็นคนจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหวังเอาไว้”
พอร์ตแมนเข้าใจปัญหาของมาฮันนี่ในการเดินตามรอยมิสเตอร์มาโกเรี่ยม ผู้จัดการร้านที่มีความคิดสร้างสรรค์เต็มเปี่ยม เธอมองไม่เห็นความมหัศจรรย์ในตัวเอง “มันเป็นปัญหาที่ใหญ่และธรรมดามากของชีวิต คือการไม่มีความเชื่อมั่นพอที่จะบอกว่านี่คือเสียงฉัน นี่คือชีวิตฉัน นี่คือสิ่งที่ฉันสร้าง และความกลัวที่จะพาตัวเองออกไปเผชิญโลกภายนอกด้วยความมั่นใจ และก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง” เธอกล่าว
พอร์ตแมนอธิบายบทบาทของมาโกเรี่ยมต่อชีวิตของมาฮันนี่ว่า “ฉันว่าเขาเป็นทั้งอาจารย์และเพื่อนเล่นของเธอ เธอรู้ว่าความสามารถในการมีชีวิตอยู่ด้วยจินตนาการอย่างเขานั้นเป็นหนทางหนึ่งในการดำเนินชีวิต เป็นตัวเลือกหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาจึงเป็นต้นแบบของมาฮันนี่ในสิ่งที่เธออยากเป็น แต่การตัดสินใจจากไปของเขาบังคับให้เธอต้องเข้ามาในโลกนี้ด้วยตัวเอง”
การร่วมงานกันระหว่างพอร์ตแมนและดัสติน ฮอฟแมน ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาเติบโต มีสีสันและมีชีวิตชีวา ซึ่งทำให้เกิดความสมจริงและน่าตื่นเต้นบนจอภาพยนตร์ ซึ่งพอร์ตแมนกล่าวว่า “ดัสตินมีส่วนคล้ายตัวละครของเขามากในเรื่องการใช้พลังความสร้างสรรค์ และการได้เห็นใครบางคนเค้นความสนุกและความพยายามออกมา เป็นสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจกับฉัน”
สำหรับพอร์ตแมน การร่วมงานกับ เจสัน เบตแมน ก็สนุกพอกับการร่วมงานกับฮอฟแมน โดยเบตแมนรับบทเป็น เฮนรี่ นักบัญชีท่าทางไร้สีสันที่ได้รับงานหินในการตีราคาร้านขายของเล่นของมิสเตอร์มาโกเรี่ยม สถานที่ที่เปลี่ยนความรู้สึกของเขาต่อทุกสิ่ง รวมทั้งต่อมาฮันนี่ด้วย “เฮนรี่น่าจะเป็นคนตรงทื่อและไม่มีอารมณ์ขัน แต่เจสันแสดงได้ตลกมากๆ” พอร์ตแมนหัวเราะ “เขาทำให้ฉันขำไม่หยุด และสุดท้ายกลายเป็นว่าเฮนรี่ผู้ไร้อารมณ์คนนี้แหละที่แสดงให้มาฮันนี่เห็นว่าอะไรที่มิสเตอร์มาโกเรี่ยมพยายามจะมอบให้เธอ”
นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีกับนักแสดงร่วมแล้ว พอร์ตแมนยังกล่าวด้วยว่าความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งในการรับบทนี้ก็คือการเล่นเปียโนและใช้ไม้วาทยากรอย่างเชี่ยวชาญซึ่งเป็นความสามารถที่มาฮันนี่มีอย่างลับๆ “มันท้าทายสำหรับฉันมากเพราะฉันไม่เคยเล่นมาก่อน” พอร์ตแมนยอมรับ “ฉันเคยเรียนตอน 8 ขวบแต่อ่านโน้ตดนตรียังไม่เป็นเลย โชคดีที่ได้ครูดี ถึงงานจะยาก แต่ก็สนุกและเป็นสิ่งที่ฉันอยากสานต่อ สำหรับการเป็นวาทยกรนั้น ถือเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ของมาฮันนี่ เมื่อเธอเริ่มเชื่อ กำแพงที่เธอสร้างขึ้นปิดกั้นตัวเองจากดนตรีก็ทลายลง และนั่นคือตอนที่เธอเริ่มคุมร้านให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง”
ขอแนะนำ มิสเตอร์มาโกเรี่ยม
เจ้าของร้านผู้อัจฉริยะและไม่มีใครเหมือน
ที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย มีตัวละครเจ้าของร้านขายของเล่นในเรื่องเล่าและภาพยนตร์จำนวนมาก แต่ไม่มีตัวไหนเลยที่เหมือน เอ๊ดเวิร์ด มาโกเรี่ยม ตัวละครตัวนี้มีนิยามว่า “ผู้จัดการร้านของเล่นสุดหรรษา นักสันทนาการสุดอัศจรรย์ และแฟนพันธุ์แท้รองเท้า” เขาเป็นชายชราวัย 243 ปี แต่นอกจากผมสีขาวแล้ว ก็ไม่มีส่วนไหนที่บ่งบอกว่าเขาอายุเกิน 65 ปี เขามีความกระตือรือร้นและพลังเหลือเฟือ เหมือนวันแรกที่เปิดร้านเมื่อ 114 ปีก่อน ความหวังในการนำความสุข เสียงหัวเราะ และศิลปะแห่งความเป็นไปไม่ได้สู่เด็กทุกเพศทุกวัยยังคงเต็มเปี่ยมในตัวเขา ทุกนาทีในชีวิตการเป็นเจ้าของร้านของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวสุดอัศจรรย์ แต่ในที่สุดก็ถึงเวลาที่มิสเตอร์มาโกเรี่ยมต้องวางมือและจากไป ถ้าเพียงร้านยอมปล่อยเขาไป
เมื่อทีมงานต้องเผชิญกับตัวละครที่มีชีวิตชีวาและยิ่งใหญ่ แต่เปราะบางทางอารมณ์เช่นนี้ ทุกคนต่างออกความเห็นต่างๆนานาว่าควรให้นักแสดงคนไหนมารับบทนี้ดี “มาโกเรี่ยมเป็นตัวละครอายุ 243 ปี เราก็เลยคุยกันว่าต้องอาศัยนักแสดงที่สามารถถ่ายทอดบทนี้ออกมาได้จากวิญญาณ จากสติปัญญา และจากประสบการณ์ชีวิตของเขาเอง” ผู้อำนวยการสร้าง ริชาร์ด แกลดสตีน กล่าว “แล้วเกือบทุกคนก็ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ดัสติน ฮอฟแมน คือคนที่เหมาะสมที่สุด” ซึ่งฮอฟแมนเองเคยแสดงใน Stranger than Fiction ที่ผู้กำกับ แซค เฮล์ม เขียนบทมาแล้ว และได้แสดงใน Finding Neverland ที่อำนวยการสร้างโดยแกลดสตีนด้วย
“กว่าจะมาลงตัวที่ ดัสติน ฮอฟแมน เราปรึกษากันหลายตลบมาก” แกลดสตีนกล่าว “แต่เขาเป็นตัวเลือกแรกสำหรับบทมิสเตอร์มาโกเรี่ยมของเราจริงๆ ไม่ว่าทีมงานบางคนจะเคยร่วมงานกับเขามาแล้ว เขาเป็นทรัพยากรบุคคลที่เป็นธรรมชาติมากที่สุดที่หนังเรื่องหนึ่งจะมีได้ เขาซึมซับทุกอย่างรอบตัวและสร้างตัวละครที่สร้างตัวละครที่คุณคิดไม่ถึงว่านี่คือตัวละครในบท แค่บอกว่าพวกเราดีใจมาก ยังน้อยไป ที่ได้เขามาแสดง”
ผู้อำนวยการสร้าง เจมส์ การาเวนตี บอกว่า “แซค เฮล์ม สร้างตัวละครนี้ขึ้นมาจากจินตนาการ ไม่ได้อิงมาจากบุคคลจริงใดๆทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมันก็เลยสนุกที่ได้ดูดัสตินงัดพลังนักแสดงออกมาสร้างตัวละครนี้”
แซค เฮล์ม เสริมว่า “ผมรู้สึกดีมากตอนร่วมงานกับดัสตินใน Stranger than Fiction และดีใจมากที่ได้กลับมาร่วมงานกับเขาอีกในฐานะผู้กำกับ เขาเป็นนักแสดงที่ทุ่มเท มีจินตนาการ เต็มใจแสดง และขณะเดียวกันก็แม่นยำ เขาใส่ใจทุกฉาก ทุกการกระทำ ทุกคำพูด และเขาต้องการเข้าถึงตัวละครให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ฮอฟแมนเข้าถึงบทนี้ได้โดยไม่ต้องคิดนาน เขารู้เลยว่าจะถ่ายทอดบุคลิกแปลกประหลาดของมิสเตอร์มาโกเรี่ยมอย่างไรไม่ให้ดูแปลกแยก โดยผสานความภูมิฐาน เข้ากับนิสัยประหลาดและอารมณ์ขันอย่างกลมกลืน “ตอนแรก ผมไม่รู้เลยว่าตัวละครจะออกมายังไง” ฮอฟแมนอธิบาย “ผมชอบรับเอาจินตนาการของผู้กำกับ คนออกแบบเครื่องแต่งกาย ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม มาช่วยสร้างตัวละคร เราต่างไม่อยากเน้นเรื่องความแก่ของมิสเตอร์มาโกเรี่ยม เพราะถ้าต้องแต่งเอ็ฟเฟ็กต์เยอะๆให้ดูแก่ คงทำอะไรไม่สะดวก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีเมคอัพและเสียงคนแก่แบบเดิมๆ ผมจึงต้องหาทางอื่น”
ในที่สุดฮอฟแมนก็หาตัวละครเจอ โดยงานนี้เขายกความดีให้กับ ลิซ่า ภรรยาสาววัย 30 ปี “ภรรยาสุดที่รักของผมอ่านบทหนัง แล้วหันมาถามผมว่า ‘คุณจำมุขนกกระจอกเทศได้ไหม’ ผมจำได้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นมุขหากินของผม ลิซ่าก็บอกว่า ‘คุณเคยส่องกระจกตอนเล่ามุขนี้ไหม’ ผมไม่เคยส่อง ผมก็เลยไปยืนหน้ากระจกแล้วเล่ามุขนี้ตามคำแนะนำของลิซ่า ปรากฏว่าผู้ชายในกระจกนั่นมันมิสเตอร์มาโกเรี่ยมชัดๆเลย”
หลังจากที่หาตัวละครพบแล้ว มิสเตอร์มาโกเรี่ยมก็ค่อยๆมีตัวตนขึ้นมา “การได้เห็นกระบวนการทำงานของดัสตินเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง” เฮล์มกล่าว “บางครั้งเขาก็ดูเหมือนอยู่ในโลกส่วนตัว ดูเพี้ยนๆและเหลือเชื่อ แต่แค่พลิกฝ่ามือ เขาก็สามารถจ้องเข้าไปในตาคุณ และทำให้คุณได้เห็นหัวใจและความรู้ทั้งหมดของเขาได้ มันสวยงามมาก ผู้ชมจะได้เห็นเขาทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน ตลอด 40 ปีที่เป็นนักแสดงมา”
ฮอฟแมนชมเฮล์มกลับว่า “แซคเขียนบทหนังเรื่องนี้ตอนอายุ 23 ปี ซึ่งผมคิดว่ามันน่าทึ่งมาที่คนอายุน้อยเท่านี้จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเวลา ความตาย และการสืบทอดมรดกได้ดีขนาดนี้”
เปิดตัวคนแปลกหน้า เฮนรี่ นักบัญชี
ผู้มาเพื่อตีราคาร้ายขายของเล่นที่ประเมินค่าไม่ได้
เมื่อถึงเวลาต้องจากไป มิสเตอร์มาโกเรี่ยมก็รู้ว่าเขาต้องประเมินราคาร้านไว้ในหนังสือ สุดท้ายเขาก็จ้างนักบัญชีชื่อ เฮนรี่ มาทำงานที่คิดไม่ถึงและเป็นไปไม่ได้ให้ มิสเตอร์มาโกเรี่ยมไม่ค่อยเข้าใจว่านักบัญชีคืออะไร แต่เขาเดาว่าเฮนรี่คงเป็นส่วนผสมระหว่าง “เครื่องนับเงินและมนุษย์กลายพันธุ์” ความจริง นอกจากสิ่งประดิษฐ์งามอร่ามและใบเสร็จรับเงินแล้ว มิสเตอร์มาโกเรี่ยมก็ไม่รู้เลยว่าร้านขายของเล่นของเขาร่ำรวยเพียงใด เขาเห็นเพียงว่าธุรกิจไปได้ดีตลอด 114 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับเฮนรี่ ร้านขายของเล่นแห่งนี้มีสัดส่วนทางการเงินที่ละอียดยิบน่าปวดหัว จนกระทั่งเขาได้ผูกมิตรกับผู้จัดการร้าน มอลลี่ มาฮันนี่
ความสัมพันธ์นี้ถือเป็นกุญแจสำคัญของความหรรษาใน Mr. Magorium’s Wonder Emporium พอๆกับซิลลี่พัตตี้และเรดิโอฟลายเออร์ (ของเล่นเก่าแก่) แรงบันดาลใจของเราสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างมอลลี่กับเฮนรี่คือเฮปเบิร์นและเทรซี่ ที่มีการรับส่งมุขที่เป็นอมตะ เพราะฉะนั้นเรารู้เลยว่าเราต้องการเฮนรี่ที่แม่นเรื่องจังหวะอารมณ์ขัน”ผู้อำนวยการสร้าง เจมส์ การาเวนตี กล่าว “แต่เราก็ต้องการคนที่สามารถทำให้คุณเชื่อได้ว่าผู้ชายคนนี้ไม่เคยมองเห็นความมหัศจรรย์ ผู้ชายที่เหมือนพวกเรา แต่สุดท้าย แม้แต่เขาเองก็ยังเชื่อ และนักแสดงที่เรานึกถึงคนแรกก็คือ เจสัน เบตแมน”
เบตแมนกลายเป็นนักแสดงตลกแถวหน้าจากทีวีซีรี่ย์เรื่อง Arrested Development ในบท ไมเคิล บลูธ ชายผู้เป็นหลักยึดเดียวของครอบครัวปัญหาเยอะเกินเยียวยา บทนี้ไม่เพียงสร้างฐานแฟนให้เขา แต่ยังทำให้เขาชนะรางวัลลูกโลกทองคำด้วย และในปีนี้ เบตแมนมีผลงานภาพยนตร์น่าสนใจหลายเรื่องที่รอคิวฉาย
แซค เฮล์ม พูดถึงการเลือกเบตแมนมารับบทเฮนรี่ว่า “แม้ว่าเฮนรี่จะเป็นคนที่ไม่เชื่อในความมหัศจรรย์ แต่พอเป็นเจสันแสดง คนดูจะเอาใจช่วยเขา เขาแสดงถ่ายทอดความอึดอัดของบทนี้ได้อย่างสบายๆ ซึ่งคุณจะเข้าใจความทลำบากของเฮนรี่ในการรับมือกับเหตุการณ์แปลกๆที่เกิดขึ้นในร้านขายของเล่น ด้วยพรสวรรค์ของเบตแมนบวกกับความเข้าขาระหว่างเขากับทีมนักแสดงคนอื่นๆ ผมคิดว่าเขาได้สร้างช่วงเวลาแห่งความหรรษาที่ดีที่สุดให้หนังทั้งเรื่อง”
แบตแมนบอกว่าเขาได้รับการเสนอบทนี้ขณะขับรถอยู่กลางแอลเอ “ผู้จัดการและตัวแทนของผมโทรมาหาบอกว่าผมจะได้แสดงหนังกับนาตาลี พอร์ตแมน และดัสติน ฮอฟแมน ในอีกไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้า ตอนนั้นแหละที่ผมขับชนรถคันแรก” เบตแมนพูดติดตลก “ผมชนคันที่สองตอนที่เขาบอกว่าผู้กำกับและมือเขียนบทคือ แซค เฮล์ม ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าผมรีบบึ่งไปหาผู้จัดการที่ออฟฟิศเพื่อรับบทมาอ่าน ความจริงผมไม่ต้องเอาบทมาอ่านเพื่อตัดสินใจหรอก เพราะแค่โอกาสที่จะได้ร่วมงานกับนาตาลี, ดัสติน และแซคก็เป็นสิ่งที่ดีมากแล้วสำหรับคนอย่างผม” แต่พอได้อ่าน เขาก็ยิ่งอยากแสดงมากขึ้น “โทนภาพของหนังเรื่องนี้ทำให้ผมตื่นเต้นมาก”
เบตแมนเองรู้สึกเห็นใจตัวละครของเขาอยู่ไม่น้อย เพราะเฮนรี่ยึดติดอยู่กับเหตุผลและกำลังพยายามทำบัญชีให้กับร้านขายของเล่นอายุ 114 ปีที่ค่อนข้างยุ่งเหยิง “เฮนรี่เป็นคนเข้มงวด เขาไม่เชื่อเรื่องเวทย์มนต์หรือสิ่งอัศจรรย์อะไรทั้งนั้น เขาแค่อยากทำบัญชีเท่านั้น” เบตแมนกล่าว “จนกระทั่งเขาได้สัมผัสกับบางอย่างที่ไม่มีอะไรอธิบายได้นอกจากเวทย์มนต์”
พนักงานอัจฉริยะวัย 9 ขวบ เอริค แอปเปิ้ลบาวม์
ขณะที่มิสเตอร์มาโกเรี่ยมเป็นเจ้าของร้านที่หุนหันพลันแล่นไม่รอบคอบ และมาฮันนี่เป็นผู้จัดการที่คอยดูแลความเรียบร้อยในแต่ละวัน ร้านขายของเล่นแห่งนี้ยังมีพนักงานอีกคนหนึ่งที่แม้จะตัวเล็กแต่ก็เป็นคนสำคัญ นั่นก็คือ เด็กชายเอริค แอปเปิ้ลบาวม์ วัย 9 ขวบ ที่เฉลียวฉลาดแต่ขี้อายและกำลังพยายามพาตัวเองออกจากกะลา
เอริคกลายเป็นบทที่หาตัวนักแสดงยากที่สุดในเรื่อง ทีมงานต้องออกไปหาเด็กผู้ชายที่มีคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์ตรงตามตัวละครจากทั่วประเทศ “เราได้คุยกับเด็กผู้ชายเกือบ 2,000 คน ระหว่างการหาตัวนักแสดงสุดทรหด” ผู้อำนวยการสร้าง เจมส์ การาเวนตี กล่าว “เราต้องการเด็กที่ดูฉลาดกว่าใคร แต่ไม่ได้ยโสโอหัง ไร้มารยาท และฉลาดเกินตัว แค่ฉลาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่านั้น”
สุดท้าย ทีมงานก็ได้พบ แซค เฮล์ม ที่เกิดในเลควู้ด รัฐโอไฮโอ และเพิ่งย้ายมาลอสแองเจลลิสเพื่อตามความฝันการเป็นนักแสดง และสุดท้ายเขาก็ทำสำเร็จ “แซคเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็กๆที่ฉลาดเหลือเชื่อ” การาเวนตีกล่าว “เขาฉลาด, สุภาพ และตอบโต้กับผู้ใหญ่ได้ดีมาก ซึ่งเหมาะกับบทอีริคที่โตมาในโลกของผู้ใหญ่ เอริคเข้ากับเด็กคนอื่นไม่ค่อยได้ ซึ่งแซคถ่ายทอดตรงนี้ออกมาได้ดีมาก”
เขาดูฉลาดและบริสุทธิ์ในเวลาเดียวกัน” ริชาร์ด แกลดสตีน “ในกรณีของหนังเรื่องนี้ ยิ่งอายุเยอะก็ยิ่งนิสัยเด็ก แต่เด็กจริงๆจะฉลาดกว่า ซึ่งดัสตินเหมาะมากกับบทผู้ใหญ่ใจเด็ก และแซคก็เหมาะมากกับบทผู้ใหญ่!”
ผู้กำกับและเขียนบท แซค เฮล์ม กล่าวถึงความประทับใจต่อตัวแซคว่า “ทันทีที่เราได้เห็นเทปออดิชั่นของเขา ผมก็รู้เลยว่าเราได้เอริคแล้ว” เฮล์มกล่าว “ทุกคนเห็นด้วยกันหมด เขาแสดงออกได้ดีและมีสมาธิ นักแสดงเด็กหลายคนได้รับการประคบประหงมเอาอกเอาใจ แต่แซคไม่มีอะไรแบบนั้นเลย เขาเป็นธรรมชาติมาก และจะทำให้คุณเข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับเอริค เมื่อเขาปรากฏตัวบนจอ คุณจะเอาใจช่วยเขา อ้อ อีกอย่างคือหัวเขาเหมาะกับการใส่หมวกมากเลย!”
ทางด้านมิลส์เองก็ไม่อยากเชื่อว่าเขาจะโชคดีได้รับบทนี้ “สำหรับเด็กๆ อะไรจะสนุกไปกว่าการได้แสดงหนังเกี่ยวกับของเล่นมหัศจรรย์ล่ะ” หนูน้อยบอก “ผมหมายถึง ทุกวันที่เดินเข้าฉาก ผมจะได้เห็นของเล่นใหม่ๆทุกวัน มีของเล่นและหนังสือเต็มไปหมด มันเยี่ยมมากเลย ทุกคนที่กับผมมากโดยเฉพาะนาตาลีกับเจสัน เพราะตอนอายุเท่าผม พวกเขาก็เป็นนักแสดง มาตอนนี้ก็เลยคอยมองและดูแลผมตลอดเลย”
พอร์ตแมนปลื้มนักแสดงร่วมตัวเล็กคนนี้มาก “ฉันว่าเขาน่าทึ่งมาก” เธอบอก “เอริคเป็นตัวละครพิเศษ เป็นเด็กบริสุทธิ์ที่พร้อมจะเชื่อในทุกอย่าง และแซครู้ดีว่าต้องแสดงอย่างไร แล้วเขาก็เป็นเด็กที่ฉลาดและน่ารักมาก เขาสุภาพ จิตใจดี และเป็นนักแสดงที่ดี เขาทำให้ฉันเสียนิสัยนะ เพราะพอเจอเด็กคนอื่น ฉันจะรู้สึกว่าใครก็เก่งได้ไม่เท่าเขา”
เนรมิตร้านขายของเล่นล้ำจินตนาการ
แม้จะมีนักแสดงแถวหน้ามากมาย แต่ตัวละครที่น่าทึ่งและมีชีวิตชีวาที่สุดตัวหนึ่งคือร้านขายของเล่น อาณาจักรแห่งความเบิกบานที่เปล่งประกายตั้งแต่พื้นไปจนถึงเพดาน และมองดูทั้งคุ้นเคยและน่าตื่นตา ตั้งแต่นาทีแรกที่ผู้กำกับ/เขียนบท แซค เฮล์ม จินตนาการร้านนี้ขึ้นมาในใจ เขาก็รู้ทันทีว่าการสร้างร้านขายของเล่นนี้ขึ้นมาจะเป็นทั้งความท้าทายครั้งสำคัญและความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
ในที่สุด เฮล์มและทีมงานก็ได้สร้างฉากร้ายขายของเล่นขนาด 7,100 ตารางฟุต อย่างที่ไม่เคยสร้างมาก่อนเฮล์มบอกว่าฉากร้านขายของเล่นเป็นศูนย์กลางเรื่องที่มีชีวิต “ในหนัง มีประโยคหนึ่งที่มิสเตอร์มาโกเรี่ยมอธิบายว่าเขาตกแต่งร้านด้วยความรู้สึกเดียวกับเด็กๆที่มาเล่นที่นี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามทำ ความจริงถ้ากำแพงมันเล่าได้ว่าเราทำอะไรกันบ้างเพื่อสร้างฉากนี้ คุณอาจจะถึงขั้นหูชา บางครั้งมันก็ยากมากที่จะให้ร้านทำอย่างที่เราต้องการ แต่สุดท้ายร้านก็พิสูจน์ให้เราเห็นว่ามันพร้อมจะถ่ายทอดความมหัศจรรย์ออกมาเช่นเดียวกับนักแสดงคนอื่นๆ”
ในการสร้างฉากแบบนี้ที่ต้องมีชีวิต เฮล์มต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ออกแบบงานสร้าง เธแรซ เดอเพรซ์ ที่มีผลงานล่าสุดคือ The Door in the Floor และภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องดัง Dark Water ที่เล่าเรื่องราวของอพาร์ทเมนท์หลอน พร้อมด้วย ไคลฟ์ โธมัสสัน มือตกแต่งฉากจาก Dark Water และ Man of the Year ทีมงานของพวกเขารับผิดชอบการออกแบบก่อสร้าง และตกแต่งร้านขายของเล่นเปี่ยมจินตนาการแห่งนี้ แล้วใส่สุดยอดของเล่นเข้าไป
เดอเพรซ์ได้ไอเดียที่หลากหลายจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเฮล์ม “เราเห็นพ้องกันว่าร้านควรจะมีส่วนผสมของความสมจริง ความเหนือจริง และบรรยากาศของอดีตรวมกันอยู่ภายใน ร้านขายของเล่นนี้เป็นตัวแทนของสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน” เธอสรุป “อย่างหนึ่งที่แซคบอกฉันคือ เขาอยากให้เด็กๆที่ได้ดูหนังเรื่องนี้รู้สึกว่า ร้านขายของเล่นแห่งนี้มีอยู่จริงที่ไหนสักที่ เพราะฉะนั้นร้านนี้ต้องแข็งแรงในแง่ประวัติศาสตร์และตำนาน”
เดอเพรซ์แรงบันดาลใจทางศิลปะและวัฒธรรมที่ช่วยเธอออกแบบร้นาขายของเล่นแห่งนี้มาจากหลากหลายแหล่งด้วยกัน ตั้งแต่สถาปัตยกรรมอาร์ทนูโวที่เธอเห็นที่กรุงบรัสเซลส์และอัมสเตอร์ดัมตอนไปฮันนีมูน, สถาปัตยกรรมวิคตเรียนของบ้านตึกแถว “Painted Ladies” ในซานฟรานซิสโก ไปจนถึงบรรยากาศงานคาร์นิวัลสุดตื่นตาของคณะละครสัตว์ Barnum & Bailey “สีสันฉูดฉาดทำใหนึกย้อนไปถึงหนังเก่าเรื่อง Greatest Show on Earth” เดอเพรซ์กล่าว เธอแขวนโปสเตอร์เก่าขนาด 20x20 นิ้วของคณะละครสัตว์ไว้บนผนังร้านด้วย “สีสันในร้านจัดจ้านมาก แต่ก็ให้ความรู้สึกแห่งประวัติศาสตร์ด้วย”
องค์ประกอบทางการออกแบบที่ทำให้งานภาพออกมาน่าตื่นตาเช่นนี้ ได้แก่ งานภาพคลาสสิคชื่อ The Son of Man ที่ยังวาดไม่เสร็จของจิตรกรแนวเซอร์รีลริสต์ชื่อดังชาวเบลเยี่ยม เรเน่ มากริต (ทั้งเดอเพรซ์และเฮล์มเป็นแฟนตัวยงของงานศิลปะแนวเซอร์รีลลิสต์), เครื่องจักรเหนือจินตนาการที่แปลงการบ้านดีๆให้เป็นของเล่น และขาคู่ยักข์ขนาดสูง 25 ฟุตที่สวมกางเกงและรองเท้าพร้อม
ภาพที่คุณเห็นในร้านขายของล่นแห่งนี้ บางส่วนก็มาจากภาพฝันและความคิดในวัยเด็กของทีมออกแบบเอง “ยกตัวอย่างนะ บางครั้งฉันก็นึกถึงตอนเด็กๆที่เคยจินตนาการถึงสิ่งของใหญ่ยักษ์ ฉันก็เลยสร้างขาคู่เบ้อเร่อเอาไว้เป็นเสาในร้าน และสร้างต้นไม้ต้นยักษ์ไว้ในระเบียงห้องสมุด” เดอเพรซ์อธิบาย
เรื่องเดียวที่ทำให้เดอเพรซ์กังวลก็คือเวลา “ช่างไม้มีเวลาแค่ 9 สัปดาห์ในการสร้างและทาสีร้านขายของเล่นสองชั้นขนาด 7.100 ตารางฟุตที่มีเพดานสูง 30 ฟุต โชคดีที่เรามีทีมก่อสร้างที่ยอดเยี่ยมและฝ่ายศิลป์ที่น่าประทับใจ ทุกคนต่างทุ่มเทในการช่วยแซคเนรมิตร้านขายของเล่นในจินตนาการให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา”
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ตัวทดสอบสำคัญของเดอเพรซ์ก็คือเด็กๆนักแสดง เพราะดวงตาของพวกเขาจะโกหกกับภาพที่เห็น “ฉันตื่นเต้นมากตอนที่เด็กๆเดินเข้ามาในฉากแล้วทำตาโตด้วยความตื่นเต้น มันเยี่ยมมาก แม้แต่ผู้ใหญ่ยังจ้องด้วยความทึ่ง จนคุณแทบจะมองเห็นร่องรอยโหยหาอดีตในใบหน้าของพวกเขา อันนั้นแหละที่เรารู้ว่าเราได้สร้างสถานที่ที่พิเศษสุดขึ้นมาแล้ว” เดอเพรซ์กล่าว
แต่งานใหญ่อีกงานหนึ่งของการสร้างร้านขายของเล่นนี้ก็คิอการหาของเล่นเข้าไปใส่ในร้าน งานที่ทั้งสนุกและเหนื่อย เพราะทีมงานต้องหาของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น รวมทั้งหนังสือและเครื่องมือแปลกๆ ตั้งแต่เป็นของเล่นโบราณคลาสสิคไปจนถึงของเล่นล้ำยุคที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน หน้าที่นี้ตกเป็นของ ไคลฟ์ โธมัสสัน และทีมหาของประกอบฉากของเขา ซึ่งพวกเขาออกค้นหาของเล่นที่สมบูรณ์แบบเหล่านี้จากทั่วโลก “เราได้ของเล่นจากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้ง จากฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ ด้วย” โธมัสสันกล่าว
โธมัสสันบอกว่าของเล่นที่เขาหามานั้นหลากหลายจนไม่สามารถระบุประเภทได้ “มันไม่เหมือนร้าน Toy-R-Us หรือร้านขายของเก่า ไอเดียของแซคเฉพาะเจาะจงมากว่าอยากได้ของเล่นหลากหลายขนาดไหน เพราะฉะนั้นคุณจะได้เห็นของเล่นล้ำสมัยแห่งศตวรรษ 21 วางคู่กับกล่องดนตรีเก่าจากยุโรป หรือรถม้าโบราณของ Radio Flyer หรือลัง Lincoln Logs เราพยายามสะท้อนบุคลิกของมิสเตอร์มาโกเรี่ยมผ่านของเล่นแต่ละชิ้นในร้านของเขา”
ของเล่นชิ้นหนึ่งที่โดดเด่นในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “โยโย่” ของเล่นที่เก่าแก่ที่สุดในโลกรองจากตุ๊กตา และเป็นที่ชื่นชอบของเด็กทุกวัยตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ (สมัยที่มันผลิตจากดินเผา) เพราะฉะนั้นเมื่อมีโยโย่ก็ต้องมีเซียนโยโย่ ผู้กำกับ แซค เฮล์ม จึงติดต่อไปหา เอเดน โคเปอร์ นักดาราศาสตร์, นักคณิตศาสตร์, นักเล่นกลบิดตัว, นักเล่นกลกินไฟ, ศิลปินร็อคอิสระ และเซียนโยโย่ เอเดนเป็นที่สนใจจากรายการ “David Letterman Show” ที่เขาแสดง “กลคนเพี้ยน” ด้วยการบิดตัวตามกรอบไม้เทนนิสขณะโยนขวด ตอนนั้น นาตาลี พอรตแมน ก็เป็นแขกรับเชิญในเทปนั้นด้วย ซึ่งเธอบอกกับเลตเตอร์แมน เจ้าของรายการในเวลาต่อมาว่า “เขากระโดดผ่านไม้เทนนิสให้ฉันดูทุกวันเลย”
ในที่สุดเอเดนก็ได้เข้ามาแสดงกลโยโย่ร่วมสมัยในภาพยนตร์เรื่องนี้โดยแสดงท่าที่ท้าทายร่างกายมนุษย์ นั่นคือ ใช้แขนทั้งสองข้างล้อมรอบศรีษะขณะเล่น เอเดนใช้โยโย่แบรนด์ Mini Motu และ Dif-E-O Konkave เล่นทั้งท่าเหวี่ยงเร็วแบบปกติและท่าแช่ค้างซึ่งเข้ากันดีกับบรรยากาศของร้านขายของเล่นมหัศจรรย์แห่งนี้
นอกจากตัวร้านแล้ว เดอเพรซ์, โธมัสสัน และทีมงานของเขา ยังต้องใส่ของเล่นเข้าไปในอีกสองสถานที่ ได้แก่ ห้องใต้ดินของร้านและอพาร์ทเมนท์ของมิสเตอร์มาโกเรี่ยมที่อยู่ติดกัน ในส่วนของห้องใต้ดินนั้นเป็นที่อยู่และที่ทำงานของเบลลินี่ผู้ลึกลับ (แสดงโดย เท็ด ลุดซิก ด้วยท่าทางแบบนิทาน) และเป็นที่ที่เขาบันทึกชีวิตของมิสเตอร์มาโกเรี่ยม ฉากนี้เป็นฉากที่สนุกและง่ายในการสร้างและตกแต่ง แต่ฉากอพาร์ทเมนท์เป็นฉากที่ต้องสร้างให้เอื้อต่อความสบายของ “มอร์ไทเมอร์” ม้าลายสัตว์เลี้ยงของทิสเตอร์มาโกเรี่ยมด้วย
“เราต้องกันม้าลายออกจากฉาก” โธมัสสันหัวเราะ “ตอนนั้นม้าลายอาจจะงุดหงิด เราก็เลยต้องมีม้าลายอีกตัวหนึ่งไว้เป็นเพื่อนตัวหลัก มันจะได้สงบลง คือไอ้เจ้าม้าลายตัวที่สองเนี่ย ไม่รู้ว่ามันเอาใจไม่เก่งหรือไง เจ้ามอร์ไทเมอร์ถึงเตะผนังฉากเป็นรูและกระแทกโคมไฟโบราณกับเฟอร์นิเจอร์อื่นเกือบพัง มาเล่าทีหลังนี่ก็ตลกดี แต่ตอนนั้นไม่ขำนะครับ”
สัตว์ที่ปรากฎตัวในหนังเป็นฝีมือการฝึกของ ไมค์ แฮคเคนเบอร์เกอร์ แห่งสวนสัตว์โบเว่นวิลล์ สวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดในแคนาดาและเป็นบ้านของดาราฮอลลีวู้ดสี่ขาหลายตัว ตั้งแต่เริ่มแรก แฮคเคนเบอร์เกอร์รู้สึกตื่นเต้นกับความต้องการของผู้กำกับที่เน้นให้ใช้สัตว์จริงเข้าฉาก ซึ่งรู้ๆกันอยู่ว่าพวกมันมีพฤติกรรมที่ไม่แน่นอน “เขาจะใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกก็ได้ แต่มันคงจะดูหลอกๆ” แฮคเคนเบอร์เกอร์กล่าว “ที่น่าปลื้มก็คือ ทีมงานเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถฝึกสัตว์ให้แสดงได้ตามจินตนาการของผู้กำกับ และเราทำสำเร็จ ตอนแรกผมก็กังวลอยู่เหมือนกัน เพราะปกติเราฝึกสัตว์ให้มันทำสิ่งที่มันทำในป่า แต่ในกรณีนี้ สัตว์ต้องแสดงตามเรื่องราวให้ได้ ซึ่งต้องอาศัยจังหวะอย่างเดียวเลย สุดท้ายเราก็ฝึกมันด้วยวิธีพิเศษสำเร็จ ทุกอย่างออกมาใช้ได้ และสัตว์ก็สนุกกับมัน”
ในส่วนของ มอร์ไทเมอร์ ม้าลายสัตว์เลี้ยงของมิสเตอร์มาโกเรี่ยม แฮคเคนเบอร์เกอร์ต้องทุ่มเทเวลาฝึกมันต่างหากอยู่นาน “ม้าลายเป็นสัตว์ที่มีน้ำหนัก 600 ปอนด์, ขี้กลัว และตกใจง่าย” เขายอมรับ “และเราต้องฝึกมันให้ยืนบนโซฟาของมิสเตอร์มาโกเรี่ยม ทั้งๆที่รู้ว่าสัตว์ส่วนใหญ่ไม่เดินบนพื้นยวบ” เพื่อให้ม้าลายคุ้นเคยกับเฟอร์นิเจอร์ของมนุษย์ แฮคเคนเบอร์เกอร์ถึงกับยกโซฟาเข้าไปตั้งในสวนสัตว์หลายเดือนก่อนการถ่ายทำ เพื่อให้มันคุ้นเคย แต่เมื่อถึงเวลาเข้าฉากจริง เคล็ดลับกลับง่ายเพียงคอยช่วยเหลือสัตว์เท่านั้น “เราพยายามใช้เทคนิคช่วยทุกอย่าง แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสัตว์” เขาอธิบาย “ม้าลายจะพิงน้ำหนัก 600 ปอนด์ใส่คุณเพื่อความอุ่นใจในการเข้าฉาก และมันทำได้ดี ซึ่งผมภูมิใจมาก”
นอกจากนี้ แฮคเคนเบอร์เกอร์ยังประทับใจการทำงานของนักแสดงนำอย่าง ดัสติน ฮอฟแมน และ นาตาลี พอร์ตแมน ด้วย เพราะพวกเขาเคารพการฝึกสัตว์อย่างหนักของเขาและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี “ทุกคนให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือเป็นอย่างดี และก็ดีมากที่มีบริษัทHumane Society เข้ามาตั้งกล้องดูแลความปลอดภัยให้ทั้งนักแสดงและสัตว์”
สัตว์อีกชนิหนึ่งที่ข้ามาร่วมแสดงด้วยก็คือตัวลีเมอร์หางแหวน สัตว์ตัวลายแสนรักจากแอฟริกาที่มีสายพันธุ์เดียวกับลิง รวมถึง “พีเทย์” ที่แสดงเป็นสัตว์ที่กระโดดออกมาจากหนังสือเล่มใหญ่ของร้านและเกาะบนศรีษะของลูกค้าในช่วงที่ร้านเกิดความปั่นป่วน”เราก็คิดจะใช้ลิงอยู่เหมือนกัน แต่ลีเมอร์อ่อนโยนและนุ่มนวลกว่า” แฮคเคนเบอร์เกอร์อธิบาย “แล้วเด็กผู้ชายที่ถูกเกาะนั่นก็ลูกชายผมเอง! เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการการตอบโต้ระหว่างสัตว์กับเด็ก เราต้องซ้อมฉากนั้นอย่างรอบคอบ ความเชื่อใจจึงจะเกิดขึ้นระหว่างนักแสดงกับสัตว์”
ยังไม่หมด สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ท้าทายทีมงานก็คือห่าน เพราะมีอยู่ฉากหนึ่งที่ห่านตัวเป็นๆวิ่งไล่เด็กผู้หญิงเป็นวงกลมในเกม Duck Duck Goose และก็เป็นอีกครั้งที่เกิความอลหม่าน “มันยากมากในการหาห่านมาเข้าฉาก เพราะห่านส่วนใหญ่จะซื่อมากเมื่ออยู่กับคน” แฮคเกนเบอร์เกอร์อธิบาย “เราต้องหาห่านที่คุ้นเคยกับคนแล้ว และต้องหาทางฝึกมันให้ทำสิ่งที่มันไม่เคยทำ นั่นก็คือเล่นเกมและวิ่งเป็นวงกลม!”
แฮคเคนเบอร์เกอร์แก้ปัญหาด้วยวิธีสุดฉลาดโดยฝึกห่านให้วิ่งไล่ลูกปิงปอง จากนั้นก็ใช้เทปติดลูกปิงปองบนศรีษะของเด็กผู้หญิงที่มันต้องวิ่งไล่ เด็กผู้หญิงที่แสดงฉากนี้ต้องซ้อมกับห่านนานเป็นดือนๆก่อนการถ่ายทำ ซึ่งเด็กคนนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นหลานสาวของแฮคเคนเบอร์เกอร์ที่คุ้นเคยกับสัตว์นั่นเอง ถึงกระนั้นระหว่างห่านกับเด็กก็ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว “ห่านต้องเทคถึง 24 เทค สัตว์สตัฟท์แสดงง่ายกว่าเยอะเลยครับ” แฮคเคนเบอร์เกอร์กล่าวติดตลก
แต่ในส่วนของสัตว์ก็ต้องใช้เวลาฝึกซ้อมเช่นกันโยนักเชิดหุ่นกว่า 14 ชัวิต นำโดยพี่น้องเดวิดและแอน พาวเวลล์ ไม่ว่าจะเป็นฉากชั้นวางตุ๊กตาหรือฉากหุ่นมือลิง พาวเวลล์และทีมงานก็พยายามอย่างยิ่งให้ดูสมจริงเหมือนในจินตนาการของเด็ก เดวิด พาวเวลล์ บอกว่า “มันเป็นประสบการณ์ใหม่ เพราะเราเริ่มจากการแสดงหุ่นเชิดบนเวที เราพบความท้าทายครั้งใหญ่เมื่อต้องสร้างสัตว์สตัฟท์ขึ้นมาใหม่โดยใส่ส่วนที่เป็นหุ่นเชิดเข้าไป และหาทางให้มันแสดงท่าทางผ่านการขยับหัว, แขน และลำตัว แถมยังได้เรียนรู้กลไกและความลับเกี่ยวกับเทคนิคหลอกตาของภาพยนตร์ ซึ่งทำให้กล้องมองไม่เห็นเรา”
เทคนิคด้านภาพเข้ามามีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของร้านขายของเล่นจากสดใสสีรุ้งไปเป็นสีเทาอึมครึม ในช่วงที่ร้านถูกเงาแห่งความเศร้าหมองฉาบทาจากความโกรธเกรี้ยว เดอเพรซ์อธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงของร้านเป็นการผสมผสานของเทคนิคมือ ซึ่งรวมถึงการทาสีและใช้แสง และคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เพราะเราไม่สามารถทาสีของเล่นทุกชิ้นและผนังทุกผืนได้ เพราะมันคงใช้เวลานานมาก”
น่าประหลาดใจที่ความมหัศจรรย์และเสน่ห์ใน Mr. Magorium’s Wonder Emporium ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์น้อยมาก “แน่นอนว่าเราใช้เอ็ฟเฟ็กต์ด้านภาพบ้าง แต่ความมหัศจรรย์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในร้านเป็นการสร้างกันขึ้นเองในฉาก ฝ่ายกล้อง, ฝ่ายเทคนิคพิเศษ และฝ่ยศิลป์คิดหาวิธีหลายอย่างในการสร้างร้านและความปั่นป่วนของมัน”
แกลดสตีนคิดว่าความสมจริงของฉากทำให้ทุกคนเชื่อว่านี่ไม่ได้เป็นแค่โลกที่สร้างขึ้นมา “มันดีมากสำหรับนักแสดงเพราะพวกเขาได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งที่มีอยู่จริงตรงหน้า สำหรับแซคก็สำคัญ เพราะเขาเป็นคนเขียนความมหัศจรรย์เหล่านี้ในบท และดูราวกับว่าเขาปลื้มใจทุกครั้งที่เห็นมันเป็นจริงต่อหน้าต่อตา”
ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของนักแสดงหรือเทคนิคในการถ่ายทำ ผู้กำกับ แซค เฮล์ม ยอมรับว่าเขารู้สึกเหมือนเด็กในร้านขายของเล่นที่ได้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้และมองดูโลกที่เขาฝันถึงมานานเป็นจริง “ผมรู้สึกรักการกำกับ Mr. Magorium’s Wonder Emporium มากกว่าที่คิดไว้ ผมเชื่อในเรื่องราวนี้ และดีใจมากที่ได้รู้ว่านักแสดงและทีมงานก็รู้สึกเหมือนกัน สุดท้าย ผมหวังว่าผู้ชมจะค้นพบพื้นที่ในหัวใจสำหรับความมหัศจรรย์ครับ”
นักแสดง
นาตาลี พอร์ตแมน รับบท มอลลี่ มาฮันนี่
ผลงาน Anywhere But Here, Where the Heart Is, Star Wars 1-3, Cold Mountain, Closer, V For Vendetta, Paris Je’taime
รางวัล
- เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Closer
- เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Closer และ Anywhere But Here
ดัสติน ฮอฟแมน รับบท มิสเตอร์เอ๊ดเวิร์ด มาโกเรี่ยม
ผลงาน The Graduate, Tootsie, Kramer & Kramer, Rain Man, Hook, Outbreak, Finding Neverland, Meet the Fockers, Perfume: The Story of a Murderer, Stranger tan Fiction
รางวัล
- ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยมจาก Kramer & Kramer และ Rain Man
- เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Wag the Dog, Tootsie, Lenny, Midnight Cowboy และ The Graduate
เจสัน เบตแมน รับบท เฮนรี่ เวสตัน
ผลงาน The Break-Up, The Kingdom, Smoking Aces, Starsky & Hutch, The Sweetest Thing, Dodgeball: A True Underdog Story, ทีวีซีรี่ย์ Arrested Development
รางวัล ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากทีวีซีรี่ย์เรื่อง Arrested Development
แซค มิลส์ รับบท เอริค แอปเปิ้ลบาวม์
ผลงาน Hollywoodland, The Santa Clause 3: The Escape Clause
ทีมสร้าง
แซค เฮล์ม — กำกับการแสดง / เขียนบท
ผลงาน เขียนบท Stanger than Fiction
รางวัล
- ได้รับรางวัล National Board Review สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Stranger than Fiction
- เข้าชิงรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาจาก Stranger than Fiction
ริชาร์ด เอ็น แกลดสตีน — อำนวยการสร้าง
ผลงาน Finding Neverland, American Splendor, Duplex, The Bourne Identity, The Cider House Rules, She’s All That, Pulp Fiction, Reservoir Dogs, Jackie Brown
โจ เดรค — อำนวยการสร้างบริหาร
ผลงาน American Psycho, The Grudge, Boogeyman, Lords of Dogtown, Stranger than Fiction
โรมัน โอซิน — กำกับภาพ
ผลงาน Pride & Preudice, The Return, The Warrior, I am David
เธแรส เดอเพรซ์ — ออกแบบงานสร้าง
ผลงาน The Return, Dark Water, Summer of Sam, Hedwig and the Angry Inch, High Fidelity
คริสโตเฟอร์ ฮาร์กาดอน — ออกแบบเครื่องแต่งกาย
ผลงาน The Pacifier, New York Minutes

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ