ฟิทช์ ประกาศคงอันดับเครดิต ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday December 21, 2007 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ดังต่อไปนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น(Short-term Foreign Currency IDR) ที่ ‘F2’
- อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BBB+’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันซึ่งออกโดย EXIM ที่ ‘AAA(tha)’
อันดับเครดิตของ EXIM มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดและควบคุมการดำเนินงานของธนาคาร นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจบางประเภทของ EXIM ยังได้รับ
การคุ้มครองจากกระทรวงการคลัง โดยความเสียหายเนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวจะถูกชดเชยโดยกระทรวง การคลัง ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุนเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจเพื่อสนองนโยบายต่างๆของรัฐบาล หรือจากการดำเนินธุรกิจรับประกันการส่งออกและการลงทุน กระทรวงการคลังจะต้องชดเชยผลขาดทุนดังกล่าวของ EXIM แม้ว่าจะมีข้อจำกัดต่างๆในการค้ำประกัน เมื่อพิจารณาถึงการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคาร รวมถึงบทบาทของ EXIM ในการสนับสนุนนโยบายในด้านการพัฒนาประเทศ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หากมีความจำเป็น
EXIM มีบทบาทหลักในการให้บริการการประกันการส่งออกและการลงทุน การจัดหาเงินทุนแก่ผู้ส่งออกไทยและนักลงทุนไทยในต่างประเทศ ในขณะที่ธุรกิจหลักของธนาคารยังคงเกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก EXIM มีแผนที่จะเพิ่มการปล่อยสินเชื่อแก่โครงการลงทุนในประเทศไทยที่จะเป็นการอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ (domestic national development projects) ซึ่งรวมถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ระบบสาธารณูปโภค ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ในปี 2549 EXIM มีผลขาดทุนสุทธิ 1.3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิที่ 457 ล้านบาทในปีก่อนหน้า โดยผลขาดทุนมีสาเหตุหลักมาจาก การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่สูงขึ้นอย่างมากเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 ผลกำไรก่อนหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของ EXIM ที่ 1.5 พันล้านบาทในปี 2549 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2550 EXIM มีผลกำไรสุทธิ 225 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 142 ล้านบาทในงวดครึ่งปีแรกของปี 2549 เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมถึงการกลับรายการผลขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2550 ธนาคารมีผลกำไรก่อนหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่ 755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ระดับเงินให้สินเชื่อของธนาคาร ลดลงอย่างต่อเนื่อง ณ ปลายปี 2549 และ ณ เดือนมิถุนายน 2550 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงทำให้ EXIM มีนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวังมาก และจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ