อิตาเลียนไทยได้งานประมูลสัญญา 9 งานก่อสร้างโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อโครงการ เพื่อรองรับการจราจรฯ โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 25, 2007 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
วันนี้ (25 ธันวาคม 2550) เวลา 11.00 น. บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ได้จัดการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) งานก่อสร้างโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อโครงการ (สัญญา 9) โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ (สัญญา 9) ณ ชั้น 30 อาคารศูนย์โทรคมนาคม บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บางรัก โดยมี นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร ธพส. เป็นประธานในการประกวดราคาดังกล่าว
การประกวดราคาครั้งนี้มีผู้สนใจยื่นเอกสารหลักฐาน จำนวน 5 ราย โดย ธพส. ได้คัดเลือกผู้มีสิทธิเสนอราคาจากบริษัทผู้รับจ้างที่ธพส.ได้คัดเลือกขึ้นเป็นผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับก่อสร้างโครงการศูนย์ราชการฯ หรือผ่านการคัดเลือก ผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น ของกรมทางหลวง งานก่อสร้าง ชั้นพิเศษ หรืองานก่อสร้างทางชั้น 1 หรือผ่านการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น ของ กรมทางหลวงชนบท งานก่อสร้าง ชั้นพิเศษ และคณะกรรมการประกวดราคา สัญญา 9 ได้พิจารณาผ่านเกณฑ์ ทั้ง 5 ราย คือ บจก. บุญชัยพาณิชย์ (1979) , บจก.นนทบุรี เอ็นจิเนีย ,บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจก. โฟคัส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น , หจก.กองมณีก่อสร้าง ในส่วนของการดำเนินการประกวดราคาครั้งนี้ ใช้วิธีการประมูลแบบปิดราคา (Seal Bid Auction) ใช้เวลาแข่งขันเสนอราคา 30 นาที และเมื่อสิ้นสุดการเสนอราคา ปรากฏว่า ผลการประกวดราคา “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 183.5 ล้านบาท โดยอิตาเลียนไทยได้พิจารณาลดราคาให้ ธพส. เป็นพิเศษ อีก 3.5 ล้านบาท ทำให้มูลค่างานที่ประมูลได้เป็น 180 ล้านบาท ซึ่ง ธพส. สามารถประหยัดงบประมาณภาครัฐไปได้ถึง 4.068 ล้านบาท จากราคากลาง 184.068 ล้านบาท
ทั้งนี้ขอบเขตของงานก่อสร้างโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อโครงการ ประกอบด้วย การขยาย ปรับปรุงถนน จำนวน 3 สาย ได้แก่
1. ขยายถนนแจ้งวัฒนะซอย 5 เชื่อมต่อกับศูนย์ราชการ (ถนนหมายเลข 12) โดยการปรับปรุงถนน เป็น 4 และ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 1.94 กิโลเมตร
2. ขยายผิวจราจรถนนแจ้งวัฒนะฝั่งใต้จากถนนกำแพงเพชร 6 (Local Road) ถึงแจ้งวัฒนะ ซอย 5 โดยขยายช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร ระยะทาง 0.30 กิโลเมตร
3. ถนนระดับพื้นจากคลองเปรมประชากร เข้าแจ้งวัฒนะซอย 5 ระยะทาง 0.26 กิโลเมตร
และขอบเขตของงานยังรวมถึงการก่อสร้างอาคารสถานีรถโดยสาร (Bus Terminal) พร้อมพื้นที่จอดรถโดยสาร ซึ่งสัญญา 9 จะเป็นอีกแนวทางในการรองรับการขยายตัวด้านจราจรในอนาคต ระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้างทั้งสิ้น 280 วัน
นอกจากนี้ แนวทางการแก้ปัญหาจราจรที่ได้ เตรียมไว้สำหรับรองรับโครงการศูนย์ราชการฯ ยังมีโครงการที่ได้รับมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ผู้บริหารโครงการ ศูนย์ราชการ
โครงการที่อยู่ในความดูแลของ กรมทางหลวง ได้ดำเนินการประกวดราคาและได้ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการสะพาน รถข้ามแยกถนนหมายเลข 2 ของโครงการศูนย์ราชการ ฯ บนแจ้งวัฒนะ แล้วคาดว่าจะเริ่มดำเนินก่อสร้างเร็วๆนี้ โดยใช้ระยะเวลา 450 วัน นอกจากนั้นกรมทางหลวงได้ตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้าง ขยายผิวจราจร บนถนนแจ้งวัฒนะฝั่งใต้ จากสภาพปัจจุบัน 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร ตั้งแต่ แจ้งวัฒนะ ซอย 5 ถึง แจ้งวัฒนะ ซอย 7 ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ โดย ธพส. เป็นผู้รับผิดชอบค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภค และชดเชยสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด
โครงการที่อยู่ในความดูแลของ กทม. อาทิ การสร้างถนนเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต และกำแพงเพชร 6 (Local Road) เข้าสู่ถนนหมายเลข 12 ของโครงการศูนย์ราชการฯ โดยก่อสร้างใหม่เป็น 4 ช่องจราจร การก่อสร้างขยายถนนประชาชื่น จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่โรงกรองน้ำบางเขนถึง ถนนแจ้งวัฒนะ และช่วยผลักดันโครงการในแผนแม่บทด้านการจราจร และขนส่ง ในพื้นที่ปิดล้อมของ กทม.ได้แก่ โครงการถนนสายรองแนว ตะวันออก- ตะวันตก และโครงการถนนสายรองแนวเหนือ — ใต้ โดยสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนแจ้งวัฒนะ 14 และ ถนนสรงประภา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ