สจล. ร่วมกับภาคชุมชน ระดมความคิดเห็นโครงการทางยกระดับมอเตอร์เวย์ ร่วมหาแนวทางเหมาะสมด้านการก่อสร้าง การจราจร สิ่งแวดล้อม ก่อนการก่อสร้างจริง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 11, 2018 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับภาคประชาชน จัดประชาพิจารณ์ โครงการงานศึกษาความเหมาะสม ทางยกระดับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพฯ – ชลบุรี สายใหม่ (มอเตอร์เวย์) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตสะพานสูง และเขตลาดกระบัง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 0+000 บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ถึงกิโลเมตรที่ 18+500 บริเวณหัวโค้งแขวงทับยาว เขตลาดกระบัง ใน 3 หัวข้องานศึกษาสำคัญ ได้แก่ ด้านวิศวกรรม และการออกแบบ ด้านการจัดการจราจร และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และหาแนวทางร่วมกัน ในการพัฒนาทางยกระดับที่เหมาะสม และเป็นไปได้ที่สุด ตลอดจนเพื่อขยายการรับรู้โครงการไปในประชาชนวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เขตนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ และสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง (ICD : Inland Container Depot) ที่เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคตะวันออก ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัว ระบบคมนาคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว โดยประมาณวงเงินการก่อสร้างทางยกระดับดังกล่าวที่ 35,000 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/KMITLLB หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบริหารทรัพยากรกายภาพ และสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8130 รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน การจราจรบริเวณเส้นถนนศรีนครินทร์ จนถึงลาดกระบัง มีความหนาแน่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้ประชาชน และชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมาก ตัดสินใจเลือกใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพฯ – ชลบุรี สายใหม่ (มอเตอร์เวย์) ในการสัญจร แต่ก็ยังพบการจราจรติดขัดเป็นช่วงๆ ต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณการใช้รถใช้ถนน ปริมาณการเดินทาง และการขนส่งสินค้าทางอากาศ ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่เชื่อมต่อกับทั้งนิคมอุตสาหกรรม และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) รศ.สุพจน์ กล่าวเพิ่มว่า จากสาเหตุดังกล่าว กรมทางหลวง กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จึงริเริ่มโครงการงานศึกษาความเหมาะสมทางยกระดับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ในช่วงศรีนครินทร์ ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อจัดสร้างทางยกระดับแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่เกิดขึ้น เชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถรองรับปริมาณการเดินทางคมนาคม และขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตสะพานสูง และเขตลาดกระบัง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 0+000 บริเวณทางแยกศรีนครินทร์ ถึงกิโลเมตรที่ 18+500 บริเวณหัวโค้งแขวงทับยาว เขตลาดกระบัง อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าว ยังต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่ จึงได้จัดประชาพิจารณ์ขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็น ศึกษาข้อควรคำนึง หาแนวทางร่วมกัน ในการพัฒนา 'ทางยกระดับ' ที่เหมาะสม และเป็นไปได้ที่สุด ตลอดจนเพื่อขยายการรับรู้โครงการไปในประชาชนวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยมีงานศึกษาที่ควรคำนึงดังนี้ - ด้านวิศวกรรม และการออกแบบ ประกอบด้วย งานศึกษาการออกแบบทางยกระดับตลอดเส้นทาง รูปแบบ โครงสร้าง และความปลอดภัยของทางยกระดับที่เหมาะสม เปรียบเทียบงบประมาณ และความคุ้มค่าการก่อสร้าง ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง การจัดการทัศนียภาพโดยรอบ - ด้านการจัดการจราจร ประกอบด้วย การจัดการจราจรทั้งระหว่างการก่อสร้าง และหลังก่อสร้างเสร็จ รูปแบบช่องทางการจราจรของทางยกระดับ จุดเชื่อมต่อทางยกระดับกับระดับพื้นดินที่เหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเส้น และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้เส้นทาง - ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย แนวทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งระหว่างการก่อสร้าง และหลังก่อสร้างเสร็จ อาทิ มลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง และสารพิษจากยานพาหนะ มลพิษทางเสียงที่อาจรบกวนพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวชุมชน สถานศึกษา และศาสนสถาน ระบบการจัดการระบายน้ำเชื่อมต่อยกระดับ และถนนระดับดิน การประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการศึกษาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทางยกระดับอยู่บนถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคตะวันออก รวมถึงเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งธุรกิจ ห้างร้าน คลังสินค้า สถานีขนส่ง สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง (ICD : Inland Container Depot โรงงานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) และเขตนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ ที่เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคตะวันออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัว ระบบคมนาคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว โดยประมาณวงเงินการก่อสร้างทางยกระดับดังกล่าวที่ 35,000 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ทั้งนี้ การประชาพิจารณ์ดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมแคแสด อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สำนักอธิการบดี) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รศ.สุพจน์ กล่าวสรุป ติดตามข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/KMITLLB หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบริหารทรัพยากรกายภาพ และสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8130

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ