อพวช.ให้ความสำคัญด้านการเรียนรู้โลกยุค Disruptive

ข่าวทั่วไป Thursday October 4, 2018 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ และการก้าวเข้าสู่โลกยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกจังหวะชีวิตของมนุษย์ ซึ่งการเข้ามาก็เพื่อหวังช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงในระบบการศึกษาที่ได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอน เสริมเติมองค์ความรู้ให้แก่ผู้เรียน แต่การหลั่งไหลเข้ามามากเกินไปอาจเป็นดาบสองคมที่หลายคนมองข้าม สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ของเด็กๆ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร มีผลกระทบต่อบทบาทของ "ครู" หรือไม่ ภายในงานเสวนาเรื่อง "โลก Disruptive กับ คุณค่าของครู" ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ณ ห้องกมลพร 1-3 ชั้น 1 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพ เมื่อวันก่อน นางกรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในฐานะแหล่งเรียนรู้สำคัญทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน กล่าวว่า "สังคมในอนาคตที่ว่า Disruptive มองว่าไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว เราเห็นการให้ความสำคัญทั้งคุณครูและเด็กในรูปแบบที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สิ่งที่สำคัญที่สุด และเราจำเป็นต้องตระหนักให้มาก คือ คุณครู ยังสำคัญอยู่ และในอนาคตคนทุกคนจะต้องมีความเข้าใจเรื่องโลกดิจิทัลให้มากขึ้น ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสังคมยุคใหม่มีอะไรใหม่ๆ แต่พื้นฐานหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือ ทำอย่างไรให้ทุกคน หรือแม้กระทั่งเด็กๆ ที่กำลังเติบโตรู้จักคิดเป็น ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเจอโจทย์ใหม่ๆ แล้วสามารถที่จะใช้ความรู้ ใช้วิจารณญาณเท่าที่มีในการแก้ปัญหาเหล่านั้น ที่สำคัญคือต้องแก้ปัญหาร่วมกับคนอื่นได้ ฉะนั้นการที่คนยุคใหม่สามารถที่จะรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย รู้จักฟังจากคนหลายๆ เจเนอเรชั่น แล้วเอาความรู้เหล่านั้นมาต่อยอด มาใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหามันจะได้ความคิดใหม่ๆ ที่เราอยากเห็น ในเรื่องของ Creativity การคิดนอกกรอบ จะทำยังไงให้คนคิดนอกกรอบ โดยสามารถที่จะคิดเอง หรือมีส่วนร่วมจากคนที่มีความคิดใหม่ๆ เนื่องจากข้อมูลเยอะมาก เด็กๆ 5-10 ขวบ เดี๋ยวนี้สามารถหาข้อมูลได้หมด ทำยังไงให้เค้ารู้ว่า ต้องใช้ข้อมูลอะไร Skill ที่สำคัญมากๆ คือ ทำยังไงให้คนเป็น Lifelong Learner คือหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง รู้ว่าจะต้องหาอะไร หาเป็น และเอามาใช้เป็น นี่คือทักษะที่สำคัญในยุค Disruptive นี้" ซึ่ง นางกรรณิการ์ ได้ให้มุมมองแก่ "ครู" ในยุคปัจจุบันที่ต้องเป็นต้นแบบที่ดี และเป็นผู้แสวงหาความรู้ตลอดชีวิตว่า "เชื่อว่าเด็กสมัยนี้เก่ง ถ้าอยากรู้เขาจะเข้าไปหาความรู้เอง ฉะนั้นทำอย่างไรให้เด็กอยากรู้ ทำอย่างไรให้ค้นพบตัวเองว่าชอบอะไร เมื่อค้นพบแล้ว พวกเขาจะสามารถค้นหาเองต่อไปอีกเรื่อยๆ เรามองว่าถ้าคุณครูสามารถส่งเสริมให้เยาวชนได้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ไปดูแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพราะบางคนอาจจะชอบวิทยาศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้บางครั้งประสบการณ์ในห้องเรียนได้ในระดับหนึ่ง ถ้าได้ไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียนด้วย มันจะเข้าถึงและเชื่อว่าจะสามารถกลับมาฝึกตัวเองได้ดี ที่สำคัญที่สุดคือ อยากให้คุณครูเป็นตัวอย่าง เราคิดว่าเด็กๆ สมัยนี้อยากมีต้นแบบที่ดี และถ้าคุณครูไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการ Lecture แต่มองว่าเราจะเป็นไอดอลของเด็กๆ อย่างไร คือคุณครูเองก็แสวงหาความรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นไอดอลของเด็กๆ คิดว่าสังคมเราจะมีบุคลากรที่ดีที่เข้มแข็งแน่นอน" สุดท้าย คือ อยากเห็นระบบการศึกษาที่เปิดโอกาส ให้โอกาสคนที่อยากจะเรียนได้เรียน เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้พัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่ตัวเองสนใจ โดยมี "ครู" เป็นผู้ชี้แนะและร่วมนำทาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ