“บ้านไร่ลุ่ม” ลด-ละ-เลิก ใช้สารเคมีในการเกษตร

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2018 09:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์ พิษภัยจากสารเคมีต่างๆ ในการทำการเกษตรไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวของเกษตรกรผู้ใช้เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสภาพสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แม้ว่าเกษตรกรเกือบทั้งหมดจะรู้และทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ในภาคการเกษตรส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะใช้สารเคมีในการจัดการผลผลิต ชุมชนไร่ลุ่ม หมู่ที่ 4 ตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลัก มีสวนผลไม้บ้างเล็กน้อย ที่ปลูกพืชผักปลอดสารพิษไว้บริโภคเองมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินรายรับไม่พอกับรายจ่าย นับวันปัญหาเริ่มสะสมทวีความรุนแรงขึ้น แกนนำของชุมชนเห็นว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปการแก้ปัญหาจะเริ่มยากขึ้น จึงได้ร่วมกันหาหนทางพลิกฟื้นหมู่บ้าน ด้วยการดำเนิน โครงการ"ชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านไร่ลุ่ม" ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากการประชุมร่วมกันชาวบ้านมีความเห็นว่าควรจัดตั้ง "สภาผู้นำชุมชน" โดยมีสมาชิกประกอบด้วย ผู้นำชุมชนที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชการ ผู้นำชุมชนตามธรรมชาติ แกนนำกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้าน รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อมาร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน เก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์จนพบแนวทางการแก้ไขปัญหา และมีมติร่วมกันในการลดรายจ่ายให้เกษตรกรพร้อมกับการสร้างชุมชนสุขภาวะ ด้วยการรณรงค์ให้ชาวบ้านลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตร หันมาปลูกพืชผักปลอดภัยไว้กินเองในครัวเรือน ธนวัฒน์ หละเขียว ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทำสวนเกษตรอินทรีย์และยังเป็นวิทยากรให้ความรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ ให้ข้อมูลว่าแต่เดิมชาวไร่ลุ่มส่วนใหญ่มีรายได้หลักมาจากสวนยางพารา มีสวนผลไม้และเลี้ยงสัตว์เล็กน้อย จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรทั้งหมู่บ้านใช้สารเคมีในการทำเกษตรทั้งสิ้น ทำให้มีต้นทุนสูงและอาจส่งผลต่อสุขภาพตามมา ในฐานะที่เป็นเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผลิตเองพิสูจน์ด้วยตนเองพบว่าปุ๋ยที่ผลิตขึ้นมีคุณภาพไม่ต่างจากปุ๋ยเคมีแต่มีต้นทุนต่ำกว่าหลายเท่าตัว จึงอาสาช่วยรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้เองมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการทำเกษตรและไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร และยังใช้พื้นที่ในบ้านจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ให้คนในหมู่บ้านได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ นำความรู้ที่ได้กลับไปใช้อีกด้วย "แต่ก่อนทุกบ้านใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยเคมีกัน 100 เปอร์เซ็ฯต์ หลังจากที่ได้รับการอบรม การรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ตอนนี้ใช้กันแล้วร้อยละ 3 ถ้าไปซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่กระสอบละพันกว่าบาท พอมาทำเองก็ถูกกว่ามาก ผมเอาไปทดลองใช้ในสวนมังคุดให้ชาวบ้านได้เห็นเป็นตัวอย่างก็ได้ผลดี คนที่นำไปใช้กับสวนยางก็ให้น้ำยางดี ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ มีไส้เดือนกลับมา สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลา 6 เดือนเท่านั้น" ปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์กล่าว ธนวัฒน์ ยังเปิดเผยด้วยว่าปัจจุบันเกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สมาชิกทุกคนทีส่วนร่วมในการซื้อหุ้นๆ ละ 10 บาทอย่างน้อย 10 หุ้น เพื่อนำไปเป็นต้นทุนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองในราคาถูก และหากเหลือก็จะนำออกจำหน่าย โดยในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดตั้งให้เป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ทุกคนเกิดความเป็นเจ้าของ และผู้ถือหุ้นจะได้รับปันผลจากการจำหน่ายปุ๋ยเป็นรายได้ของครอบครัว "เรากำลังจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้ปุ๋ยราคาถูกไปใช้ใส่พืชผัก ที่นี่มีปลูกผักไว้ขายก็มีแต่ไม่กล้ากินเองเพราะรู้ว่าใส่อะไรลงไปในผักบ้าง ตอนนี้พอมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์คนที่ปลูกผักก็มั่นใจที่จำพืชผักมากิน" ธนวัฒน์ กล่าวย้ำ ทางด้าน มานิตย์ สุดบู แกนนำเกษตรอินทรีย์อีกคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ใช้พื้นที่ในบ้านที่มีอยู่กว่า 8 ไร่ในการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง มีผลไม้นานาชนิด เช่นทุเรียน มังคุด เงาะ กล้วย มะพร้าว มะม่วง มะละกอ จำปาดะ และมีบ่อเลี้ยงปลา และพื้นที่บางส่วนใช้ปลูกยางพารา โดยพืชที่ปลูกทุกชนิดไม่มีการใช้สารเคมีหรือใส่ปุ๋ยเคมีเลย ทำให้ไม่มีรายจ่ายในการซื้อปุ๋ยและยา "ก็เริ่มทำแบบนี้มาตลอด พืชในสวนส่วนใหญ่ใส่มูลไก่ และได้ปุ๋ยจากการเป็นสมาชิกกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ ตอนนี้ปลดหนี้ได้แล้ว ในบ้านจึงมีของกินทุกชนิดได้กินผลไม้ทุกฤดูกาล เหลือก็เอาไปขายมีรายได้เข้ามา อย่างทุเรียนที่ปลูกไว้ปีหนึ่งก็ให้ผลตอบแทน 2 หมื่นบาทต่อต้นน่าพอใจทีเดียว" แกนนำเกษตรอินทรีย์ยืนยันและให้เห็นว่าการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้เป็นสิ่งที่ทำได้ ขณะที่ ฟารีดา เส็นบัตร หนึ่งในแกนนำและเจ้าของสวนผลไม้เกษตรทฤษฎีใหม่ กล่าวว่าการเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้รับความรู้มาใช้กับสวนของตนเอง ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆก็ได้ความรู้ ได้ช่องทางในการลดรายจ่ายอีกด้วย ทั้งการรวมกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง การจัดทำบัญชีครัวเรือนที่จะทำให้รู้รายรับรายจ่าย การอบรมทำสบู่ น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายกับของใช้พวกนี้ และยังสามารถจำหน่ายได้อีกด้วย "หลังจากมีสภาผู้นำชุมชนมาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหากันแล้วเราก็เริ่มทำกิจกรรม มีการอบรมให้ความรู้เรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ชาวบ้านให้ความสนใจมาก เด็กๆเองก็มีครูพามาร่วมเรียนรู้ด้วย พืชผักที่เราปลูกได้ ผลผลิตต่างๆตอนนี้นำแกขายแล้ว เรามีตลาดนัดชุมชนให้เกษตรกรรนำผลผลิตออกมาวางขายทุกวันพุธ" ฟารีดาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ปัจจุบันการใช้สารเคมีของเกษตรกรบ้านไร่ลุ่มมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรเริ่มตระหนักและหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการการเกษตรเพิ่มมากขึ้น และจากการขับเคลื่อนของสภาชุมชนที่ชาวบ้านให้การยอมรับ โดยมีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนจากหลายกลุ่ม อาทิ เทศบาล รพสต. กลุ่ม อสม. โรงเรียน ผู้นำชุมชนจากหมู่ 9 หมู่ 11 และหมู่ 15 ที่อยู่ใกล้เคียง ที่ได้นำแนวทางของบ้านไร่ลุ่มไปขยายผลใช้กับชุมชนของตนเอง ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลไปสู่การทำงานในระดับตำบลเพื่อเปลี่ยนชุมชนแห่งนี้ให้กลายเป็นชุมชนสุขภาวะที่ปลอดภัยจากสารเคมีในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ