ชวน “พ่อ-แม่-ลูก” เปิดใจ “คุยเรื่องเพศ” ที่ชุมชนบ้านหินเพิง

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2018 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์ จากข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย พบอัตราการคลอดในหญิงไทยอายุ 10-17 ปี ในปี พ.ศ. 2559 คิดเป็นร้อยละ 6.3 หรือ 41,889 คน หากย้อนไปดูสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2546 พบว่ามีร้อละ 4.9 หรือราว 36,703 คน แสดงให้เห็นว่าอัตราการตั้งครรภ์ในหมู่วัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาสุขภาพของแม่วัยใส และเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการทำงาน เนื่องจากขาดความพร้อมในการดูแลบุตร โครงการ "ร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ สานพลังชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้เข้าไปส่งเสริมชุมชนให้พัฒนาศักยภาพในการสร้างสุขภาวะทางเพศสำหรับเยาวชนในชุมชน สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ปรียากมล น้อยกร ผู้จัดการโครงการร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ สานพลังชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กล่าวว่า สถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในปัจจุบันแทบไม่ได้ลดจำนวนลง ขณะเดียวกันการสื่อสารยุคปัจจุบันเป็นช่องทางในการติดต่อของเด็กที่อาจนำตัวเองไปสู่สถานการณ์ไม่ปลอดภัยได้มากขึ้น ส่วนการให้ความรู้ด้านเพศศึกษาในสถาบันศึกษาก็ยังไม่เพียงพอ มีการเรียนรู้เฉพาะทางทฤษฎีแต่ขาดทักษะ เด็กอาจไม่กล้าถามคำถามในสิ่งที่ไม่แน่ใจ แต่การสร้างพื้นที่ให้เด็กไว้วางใจที่จะพูดคุย เพื่อให้มีข้อมูลมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อพูดคุยเรื่องเพศมีหลายมิติสามารถพูดได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การดูแลสุขอนามัย เป็นต้น ที่ บ้านหินเพิง หมู่ที่ 8 ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นชุมชนชนบทติดเชิงเขา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีเด็กอายุ 12-15 ปี จำนวน 76 คน จาก 50 ครอบครัว และพบว่าชุมชนมีความเปราะบางที่จะพูดคุยเรื่องเพศกันในครอบครัว ทำให้เด็กต้องแสวงหาความรู้เองจากกลุ่มเพื่อนและครูเป็นหลัก พ่อแม่ผู้ปกครองแทบจะไม่มีการสื่อสารกันเลย จนกระทั่งชุมชนได้เข้าร่วมโครงการ "ร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ สานพลังชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" สุดารันต์ รัตนพันธ์ หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลคลองพนพัฒนา เปิดเผยว่าพื้นที่บ้านหินเพิงไม่ได้มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แต่ชุมชนที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม เป็นพื้นที่ๆ มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหนียวแน่น จึงเลือกที่จะดำเนินโครงการในชุมชนนี้ โดยใช้ข้อมูลที่ได้จาก รพ.สต.คลองพน เชิญชวนผู้ปกครองที่มีบุตหลานอายุระหว่า 12-19 ปี จัดทำเวทีประชาคม คัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ทั้งการอบรมให้ความรู้แก่เยาวชน ให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง และกิจกรรมเข้าค่ายร่วมกันทั้งครอบครัว "พื้นที่นี้ไม่มีกลุ่มเสี่ยง แต่จริงๆ ใครก็เสี่ยงถ้าเราไม่กล้าพูดเรื่องนี้ วัตถุประสงค์คือการสร้างกระบวนการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับลูกๆในเรื่องเพศในเชิงความรู้ความเข้าใจ เป็นการป้องกันไว้ก่อน ลูกได้ทักษะวิธีการปฏิเสธ วิธีการเลือกข้าง พ่อแม่จะได้ความรู้วิธีการสื่อสาร พ่อแม่คุยกับลูกทุกเรื่องแต่พอเรื่องเพศก็จะไม่กล้าคุย ที่โรงเรียนเองมีสอนในชั่วโมงสุขศึกษาก็จริง แต่เป็นเรื่องผิวเผินไม่ได้ลงรายละเอียด และเมื่อเป็นกลุ่มเล็กๆก็จะทำให้เข้าถึงง่ายกว่า" หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคมเทศบาลคลองพนพัฒนา กล่าว จากประสบการณ์ของ คูณ ถิ่นพังงา ผู้ปกครองลูกชายวัย 13 ปี เล่าว่าในสมัยเป็นวัยรุ่นไม่มีความรู้เรื่องเพศเลย เรียนรู้จากเพื่อนและรุ่นพี่ๆ ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อมองย้อนไปเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อได้เข้าอบรมแล้วทำให้รู้วิธีการที่จะสื่อสารเรื่องเพศกับลูก มีความรู้ในการให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกได้ "ในชุมชนเองถ้าพูดเรื่องเพศจะถูกมองไปในทางยุยงส่งเสริม เมื่อเข้าอบรมแล้วลูกสงสัยอะไร เราสามารถตอบได้เลย ไม่ต้องปิดบัง เราเองก็มีความรู้ที่จะบอกกับลูกได้ เป็นเรื่องสมควรต้องเรียนรู้ เมื่อก่อนผู้หญิงถ้าเจอลูกหลานผู้หญิงพกถุงยางอนามัยอาจจะโดนดุด่าโดนทำโทษ แต่เดี๋ยวนี้ต้องให้ความเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการป้องกันที่ดีควรให้การยอมรับ" ผู้เข้าร่วมโครงการกล่าว ขณะที่ ฉลาด ช่วยพัทลุง แม่ซึ่งมีลูกชายและลูกสาววัย 15 ปี ยอมรับว่าแม้จะสนิมสนมกับลูกสาวแต่ก็ไม่เคยคุยในเรื่องเพศกับลูกเลย จนได้เข้าร่วมอบรมทำให้มีวิธีการที่จะไปสื่อสารกับลูกได้ดีขึ้น และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ครอบครัวตนเอง "ลูกชายเลยไปรุ่นไปแล้ว อยู่ชั้น ม.3 ก่อนเข้าอบรมถ้าดูโทรทัศน์ด้วยกัน เมื่อเจอภาพละครพลอดรักกันลูกจะเปลี่ยนช่องหนีทันที แต่หลังเข้าอบรมก็อธิบายให้ลูกฟังได้ ลูกก็โตพอที่จะพูดคุยกันได้ แต่ก่อนไม่มีความรู้จะพูดกับลูกอย่างไร ลูกชายที่เลยวัยรุ่นไปแล้วก็ไม่เคยได้คุย แต่ตอนนี้ก็กลับมาคุยมาปรึกษาได้ แม่ก็มีความรู้ที่จะบอกกับลูกมากขึ้น" ผู้ปกครอง กล่าว การพูดคุยเรื่องเพศระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและบุตรหลานในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าอายหรือต้องปิดบังอีกต่อไป และเป็นสิ่งที่ควรได้รับการต่อยอดขยายผลออกไปในสงกว้างมากขึ้น เพื่อเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันทีดีในการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ