กทปส. มุ่งขับเคลื่อนความเข้มแข็งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ เปิดให้ทุนโครงการประเภท 2 ครั้งที่ 3

ข่าวเทคโนโลยี Friday October 12, 2018 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กทปส. กทปส. เปิดรับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการเปิดรับข้อเสนอโครงการ ประเภทที่ 2 ประจำปี 2561 ครั้งที่ 3 จำนวน 2 โครงการ ด้วยวงเงินรวม 55,000,000 บาท เดินหน้าสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ หวังสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เปิดเผยว่า กทปส เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการเปิดสนับสนุนมอบทุนประเภทที่ 2 ประจำปี 2561 ครั้งที่ 3 เพิ่มอีก 2 โครงการ วงเงินรวม 55,000,000บาท ซึ่งทุนประเภทที่ 2 นี้ เป็นการมอบทุนตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ซึ่งจะประกาศกำหนดขอบเขตของงานแต่ละโครงการ เพื่อให้ผู้ที่คุณสมบัติตามที่กำหนดไว้สามารถยื่นข้อเสนอในการดำเนินการเพื่อขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก กทปส. ได้ โครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2561 ทาง กทปส. ได้เปิดให้มีการขอรับการสนับสนุนไว้แล้ว 10 โครงการ และได้เปิดเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 52 (2) ซึ่งระบุไว้ในขอบเขตงาน (TOR) ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และ 2. โครงการจัดตั้งบริการทดสอบและวิจัยระบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีซอฟต์แวร์เป็นส่วนประกอบ โดยโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทหรือแผนยุทธศาสตร์ กสทช. ด้านการใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะอื่นๆ สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาประเทศโดยมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากระบบเดิม ไปสู่" Value–Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งคือ การนำความฉลาดของเทคโนโลยีมาทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถทำางานได้แบบอัตโนมัติภายใต้คำสั่งการของผู้ใช้งาน โดยมีความร่วมมือในการขับเคลื่อนและพัฒนาทั้งภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ที่นำความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐเป็นกำลังในการสนับสนุน นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนากำลังคนทั้งบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาดในการประกอบอาชีพและการพัฒนาบุคลากรในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลโดยตรงให้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระดับมาตรฐานสากลและให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โครงการพัฒนาศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1.จัดทำระบบศูนย์กลางการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมเนื้อหาด้านการเรียนรู้ทั้งตามหลักสูตรการศึกษาและความรู้ทั่วไป โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ในระบบได้หลากหลายช่องทางมีความสะดวกง่ายต่อการใช้งานและมีประสิทธิภาพ 2.เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การสร้างเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ การนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ เช่น Internet of Thing (IoT) , Virtual Reality (VR) , Machine to Machine communication (M2M) เป็นต้น 3.เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาในสถาบันต่าง ๆ ในการแลกเปลี่ยนและพัฒนา องค์ความรู้ระหว่างกัน การพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล สามารถเริ่มต้นจากภาคการศึกษาเพื่อเป็นการวางรากฐานและการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่จะก้าวเข้าสู่วัยงานให้เป็นบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพและพร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป ดังนั้นจึงได้กำหนดให้มี "โครงการพัฒนาศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล" เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย เพื่อการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมแห่งความรู้ ภูมิปัญญา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นมิติใหม่แห่งการเรียนรู้โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการเรียนรู้ สื่อการสอน และการแบ่งปันข้อมูล การดำเนินงานและกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย สำหรับอีกหนึ่งโครงการที่เปิดมอบทุน คือ โครงการจัดตั้งบริการทดสอบและวิจัยระบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีซอฟต์แวร์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ของเทคโนโลยีในยุคที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things : IoT ที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของประชากรทั่วโลก โดยปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน IoT จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากข้อมูลของบริษัท IBM ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีอุปกรณ์ IoT 1.3 แสนล้านชิ้น และคาดว่าในปี พ.ศ.2562 IoT จะสร้างมูลค่าทาง เศรษฐกิจโลกได้มากถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทางด้านบริษัท Frost & Sullivan คาดการณ์ในประเทศไทยไว้ว่า IoTจะสามารถสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้มากถึง 3.4 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2563 จากการเริ่มนำ IoT มาปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านการผลิต การเกษตร การแพทย์ และยานยนต์ เป็นต้น ตัวอย่างระบบ IoT ที่นำมาใช้ในด้านต่างๆ ได้แก่ ระบบที่จอดรถอัจฉริยะ ถังขยะอัจฉริยะ กล้องวงจรปิดอินเทอร์เน็ต เครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ เตียงทันตกรรม อัจฉริยะ ทั้งนี้ในอุปกรณ์ IoT นั้นจะประกอบไปด้วยระบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีซอฟต์แวร์เป็นส่วนประกอบในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมอุปกรณ์ คำนวณค่าพร้อมทั้งแสดงผลลัพท์ อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำงานยังมีจุดที่ต้องพึงระวังทั้งจากความไม่ปลอดภัยจากผู้ไม่ประสงค์ดี ตัวอย่างข่าวการถูกโจมตีกล้องวงจรปิด(CCTV) ครั้งใหญ่ที่สุดในโลกด้วย Botnet ทำให้เว็บไซต์สำคัญๆ ของในสหรัฐฯ ล่ม ธนาคาร 5 แห่งในประเทศรัสเซียถูก Distributed Denial-of-Service (DDoS) โจมตีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน ส่งผลให้ระบบบริการของธนาคารล่ม ปัญหาผู้ใช้งานถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ทั้งในด้านความปลอดภัยของข้อมูล และภัยในส่วน ที่มีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบในด้านคุณภาพการดำเนินชีวิต ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและการป้องกันภัยที่มาจากระบบดังกล่าวแก่ผู้บริโภค สำนักงาน กสทช. โดยสำกงานกองทุนวิจัยและพัฒนา จึงเล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของบริการทดสอบและวิจัยระบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีซอฟต์แวร์เป็นส่วนประกอบ เพื่อให้บริการทดสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ที่ฝังอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการวิจัยวิธีการทดสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ด้านต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะดำเนินการคัดเลือกผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินกองทุน ประเภทที่ 2 เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ กทปส. อันได้แก่ สร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือในการใช้งานให้กับระบบ รวมทั้งสร้างความตระหนักและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ และยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้เทียบเท่าและก้าวทัน ในระดับนานาชาติ ดังกล่าว ข้างต้นต่อไป ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดโครงการและลงทะเบียนเพื่อขอรับทุนได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16.30 น. หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ 888 อาคารไอทาวเวอร์ 1 ชั้น 6 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 02 554 8111 และ 02 554 8114 โทรสาร 02 554 8100 ในวันเวลาทำการ "กทปส. เชื่อมั่นว่าโครงการสนับสนุนทุนประเภทที่ 2 ทั้ง 2 โครงการจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมถึงการนำเทคโนโลยีไปสู่การประยุกต์ใช้และต่อยอด เพื่อสร้างเข้มแข็งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ" นายนิพนธ์ จงวิชิต กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ