ทีม “Falcon 9” สวนกุหลาบรังสิต คว้าแชมป์จรวดขวดน้ำประเภท Water Rocket Design Challenge อพวช. เตรียมส่งเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กับตัวแทนเยาวชนอีกกว่า 11 ประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday October 16, 2018 12:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค เดินหน้าสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ จัดการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 17 ผลปรากฏว่า ทีม "Falcon 9" สวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ปทุมธานี คว้าแชมป์จรวดขวดน้ำประเภทแม่นยำ และนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ (Water Rocket Design Challenge) รุ่นอายุ 12 – 15 ปี โดยจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกับตัวแทนเยาวชนอีกกว่า 11 ประเทศ ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กับการแข่งขันจรวดขวดน้ำนานาชาติ "APRSAF Water Rocket Event" ต่อไป ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 17 รอบชิงชนะเลิศว่า "เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสังคมในอนาคตเป็นสังคมฐานความรู้ กิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำ ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนและประชาชนให้สนใจเรื่องของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น การแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศเป็นกิจกรรมหนึ่งในการกระตุ้น เสริมสร้างพัฒนาทักษะกระบวนการ และการเรียนทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบให้กับเยาวชนควบคู่กับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน และท้าทาย โดยเยาวชนจะได้ลงมือปฏิบัติจริง ทดลอง สังเกต แก้ปัญหา ทำงานร่วมกับทีมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ให้เป็นจรวดขวดน้ำ ฐานปล่อยจรวด และขอให้เยาวชนทุกคนเก็บประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป แม้ว่าจะไม่ได้รางวัล ใด ๆ ก็ตาม" ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า "กิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก จับต้องได้ใช้ประโยชน์ได้จริง การประดิษฐ์จรวดขวดน้ำ เป็นการนำหลักการ STEM Education มาใช้ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ (Science) ได้แก่ แรง โพรเจคไทล์ มุมยิง ฯลฯ ด้านเทคโนโลยี (Technology) ได้แก่ การบิน การลอยตัว ด้านวิศวกรรม (Engineering) ได้แก่ การประดิษฐ์จรวดขวดน้ำให้มีความเหมาะสมในการแข่งขันแต่ละประเภท ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematics) ได้แก่ คำนวณแรงลม ทิศทาง มุมยิงจากแท่นยิง ความไกล ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเป็นการนำ STEM มาประยุกต์ในการแข่งขันจรวดขวดน้ำได้อย่างครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้น การประดิษฐ์ให้เกิดความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ยังก่อให้เกิดทักษะด้านศิลปะ (Art) อีกด้วย" กิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ เป็นกิจกรรมที่ อพวช. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในทุก ๆ ปี ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการทำกิจกรรม โดยในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) ในการให้พื้นที่ในการจัดการแข่งขันประเภทสนามไกล, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขัน, และมหาวิทยาลัยในภูมิภาคได้ร่วมทำงานในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีเยาวชนสนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวน 1,286 ทีม โดยมีเยาวชนจากทั่วประเทศผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 96 ทีม สำหรับทีมเยาวชนที่ชนะการประกวดประเภทแม่นยำ และนำเสนอผลงานด้วยภาษาอังกฤษ (Water Rocket Design Challenge) จะได้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำนานาชาติ "APRSAF Water Rocket Event" ซึ่งมีเยาวชนจากทั่วภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมแข่งขันในทุกปี คุณปิลันธนี พาณิชพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จที่เกิดจากทักษะความสามารถทางวิทยาศาสตร์และความสามัคคีของทุกคนในทีม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศนั้น กลุ่มทรูเห็นถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์โครงการเชิญชวนรับสมัคร ตลอดจนนำความสามารถของน้องๆ ในโครงการจรวดขวดน้ำ ประมวลเป็นภาพกิจกรรมการแข่งขัน ออกอากาศผ่านทางทรูวิชั่นส์กว่า 20 ช่องรายการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบว่าเยาวชนไทยของเรามีความสามารถ สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในด้านวิทยาศาสตร์ที่น้องๆ มีความสนใจต่อไป" สำหรับผลการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 17 มีดังนี้ ชนะเลิศ ประเภทความไกล แบบขวดเดียว ระดับประถมศึกษาทีม "Success full 2" ในระยะความไกล 108.89 เมตร สมาชิกในทีม คือ ด.ช.ธีรศักดิ์ สีหะวงศ์ ด.ช.ศรศักดิ์ สุลำนาจ และ ด.ช.ศรณรายณ์ สุลำนาจ โดยมี น.ส.ธัณฤมน รำราญสุข เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จากโรงเรียนหินลาดนารายณ์สาร ระดับมัธยมศึกษาทีม "LP4" ในระยะความไกล 123.64 เมตร สมาชิกในทีม คือ นายจตุภัทร แก้วพวง นายณัฐกิตติ์ ชิณวงค์ และ นายธณรัฐ แก้วพวง โดยมี นายวุฒิชัย คำเสมอ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จากโรงเรียนลิ้นฟ้าพิทยาคม ชนะเลิศ ประเภทความไกล แบบหลายขวด ระดับประถมศึกษาทีม "Pegasus" ในระยะความไกล 133.19 เมตร สมาชิกในทีม คือ ด.ช.ภทรวรรส รักเป็นไทย ด.ช.สรวิชญ์ มรกต และ ด.ช. สมศักดิ์ ทองแก้ว โดยมี นายปิยะศักดิ์ ลั่นเต้ง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จากโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา ระดับมัธยมศึกษาทีม "เดชอุดม C" ในระยะความไกล 135.48 เมตร สมาชิกในทีม คือ นายจักรพรรดิ์ จำปาเทพ น.ส.รัฐธิดา พูนประโคน และ ด.ช.ปัณณวัฒน์ แสงสว่าง โดยมี นายสิทธิพงษ์ แสงสว่าง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จากโรงเรียนเดชอุดม ชนะเลิศ ประเภทความแม่นยำ ระดับประถมศึกษาทีม "T.C.S.2" ในระยะใกล้เป้าหมาย 0.75 เมตร สมาชิกในทีม คือ ด.ช.ภูธเนศ แก้วคง ด.ช.หาญณรงค์ ตี้ฮ้อ และ ด.ช.ไกรสิทธิ เรื่องของ โดยมี นายปิยะศักดิ์ ลั่นเต้ง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จากโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ทีม "SWEET" ในระยะใกล้เป้าหมาย 0.54 เมตร สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญ.สุชานาฏ ลั่นเต้ง น.ส.จัททิมา สิ่งอ้วน และ ด.ช.ธนพล ยางจิตต์ โดยมี นายปิยะศักดิ์ ลั่นเต้ง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จากโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา โดยทีมที่ชนะเลิศในทุกประเภทจะได้รับทุนการศึกษาจาก อพวช. ทีมละ 15,000 บาท นอกจากนั้นยังมีโล่เกียรติยศและของรางวัลอีกมากมายจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ติดตามผลการแข่งขันและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ 0 2577 9999 ต่อ 1414 หรือwww.nsm.or.th หรือ www.facebook.com/thailandwaterrocketchampionship

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ