ส.อ.ท. ดัน “Made in Thailand” เป็นวาระแห่งชาติเพื่อพัฒนาคุณภาพ ผลิตภาพ และมาตรฐานสินค้าไทยอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday October 18, 2018 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอภาครัฐผลักดันโครงการ "Made in Thailand" เป็นวาระแห่งชาติ ยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศมีการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น มีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการภาษีอากรเกิดขึ้นหลายรูปแบบ และมีสงครามการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้น ต้องพิจารณาเลือกที่จะทำตลาดอื่นๆ ทดแทน ส่งผลให้มีสินค้าต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดของไทยมากขึ้น ไทยจึงควรหามาตรการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ส.อ.ท. ได้พิจารณาเห็นว่าประเทศไทยควรจะหันมาให้การสนับสนุน ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการ "Made in Thailand" ขึ้น โดยมอบหมายการจัดทำมาตรการและแผนงานโครงการ "Made in Thailand" ให้สายงานศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งรองประธาน ส.อ.ท.คุณพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล เป็นประธานสายงานฯ "Made in Thailand" คือ โครงการที่ ส.อ.ท. จุดประกายและผลักดันให้เกิดการสร้างความภาคภูมิใจ ความเชื่อมั่น และความพึงพอใจในสินค้าไทยต่อผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการ"Made in Thailand" จะเป็นโครงการที่เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจ และผู้บริโภคต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ภายใต้สัญลักษณ์ "Made in Thailand" นอกจากนี้ โครงการ"Made in Thailand" ยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายของผู้บริโภคและผู้ผลิตให้มีการพัฒนาตลาดของสินค้าไทย "Made in Thailand" ร่วมกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาคุณภาพ ผลิตภาพ และมาตรฐานสินค้าอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ส.อ.ท. เล็งเห็นว่าโครงการ"Made in Thailand" ถือเป็นโครงการสำคัญระดับประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการผลักดันโครงการ "Made in Thailand" โดยจะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย ส.อ.ท. จะเสนอให้ภาครัฐผลักดันโครงการ "Made in Thailand" เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว โดยมีกลุ่มตลาดเป้าหมาย ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ผู้บริโภคในประเทศ และผู้นำเข้าในต่างประเทศ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โครงการ"Made in Thailand" ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ใน การดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) การประชาสัมพันธ์ ส.อ.ท. จะรวบรวมฐานข้อมูลสินค้า "Made in Thailand" ที่เชื่อถือได้ และพัฒนา Application Platform สินค้า "Made in Thailand" เพื่อเป็นเครื่องมือแนะนำสินค้าและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 4 กลุ่มเป้าหมาย สามารถค้นหาสินค้า "Made in Thailand" ที่สนใจและตรวจสอบข้อมูลที่นำมา ซึ่งความน่าเชื่อถือของสินค้า เช่น แหล่งผลิต มาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า รวมทั้งสามารถให้คะแนน Rating สินค้าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิต ทำการสื่อสารผ่านสื่อ Social Media จัดการประกวดสินค้าคุณภาพ ส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ได้มาตรฐาน และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายผู้ผลิตสินค้า "Made in Thailand" 2) กิจกรรมเพื่อสนับสนุนการตลาด การเผยแพร่สินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าไทยที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก (The Unseen Product - Made in Thailand) โดยร่วมกับภาครัฐสรรหาสินค้าดังกล่าว จัดนิทรรศการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สินค้า "Made in Thailand" ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ และขอความร่วมมือจากทูตพาณิชย์ไทยในประเทศต่างๆ ให้ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า "Made in Thailand" รวมถึงการสนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ในต่างประเทศ สำหรับสินค้า "Made in Thailand" พร้อมกันนี้ ส.อ.ท. จะให้ความรู้ ให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าไทยสามารถเข้าถึงการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) 3) ยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล ขอให้ภาครัฐเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพแห่งชาติ (National Quality Infrastructure :NQI) ให้เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนปฏิรูปประเทศ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561 หน้า 332 - หัวข้อย่อย 3.3 เรื่อง การปฏิรูปสถาบันด้านการส่งเสริมผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม ทั้งนี้เนื่องจากมาตรฐานและนวัตกรรมเปรียบเสมือนเป็นวิธีการ หรือเครื่องมือที่จะนำไปสู่ การยกระดับผลิตภาพของประเทศ จึงต้องพิจารณาให้มีหน่วยงานหลักที่เป็นแกนกลางในลักษณะ ที่เป็น Single Agency มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐานของประเทศ ที่ครอบคลุมด้านการกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรอง และมาตรวิทยาในทุกภาคส่วน ซึ่งต้องมีการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือหรือแพลทฟอร์ม (Platform) การทำงานที่เข้มแข็ง อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนการมาตรฐานของประเทศทั้งระบบโดยรวม ในขณะเดียวกัน ส.อ.ท. จะให้การสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนามาตรฐานคุณภาพที่ผลิตในประเทศ เช่น โครงการพี่เลี้ยงในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า, โครงการพัฒนาระบบ Mini - ISO เพื่อช่วยเหลือ SME รวมทั้งสนับสนุนผู้ผลิตสินค้านวัตกรรมให้ขึ้นจดทะเบียนนวัตกรรมมากขึ้น และให้ได้รับเงินทุนจากภาครัฐในการผลิตสินค้านวัตกรรม 4) นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมบัญชีกลาง และ ส.อ.ท. เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลสินค้า "Made in Thailand" และเชื่อมต่อระบบ E-Market ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดย ส.อ.ท. จะจัดสัมมนาให้ความรู้ ความเข้าใจและเชิญชวนผู้ผลิตนำข้อมูลสินค้าฯ เข้าในฐานข้อมูลสินค้าแห่งชาติ (National Product Catalogue) จัดประเภทสินค้าตามมาตรฐาน UNSPSC และเชื่อมโยงข้อมูลมาตรฐานสินค้าจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สมอ. อย. Halal ฉลากเขียว เป็นต้น และขอให้ภาครัฐกำหนดและผลักดันแนวการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ในทุกหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งจัดสัมมนาให้ความรู้หน่วยงานราชการในการเลือกซื้อสินค้า "Made in Thailand" ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และมติ ครม. ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน "ขอเพียงมีพลังใจร่วมกันที่จะสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นใจในสินค้าไทยสินค้าไทยจะก้าวไกลสู่สากล"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ