รีวิวชีวิตดีๆ ในจีน...กับประสบการณ์นักศึกษาแลกเปลี่ยน 'จีนศึกษา’ ธรรมศาสตร์ กับบทเรียนในโลกปัจจุบันที่ได้มากกว่า “ภาษา”

ข่าวทั่วไป Wednesday November 14, 2018 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ ปี 2562 กำลังจะมาถึงแล้ว หลายคนเริ่มตั้งปณิธานในสิ่งใหม่ๆ ที่อยากทำ หรือพัฒนาตัวเองรับปีใหม่ที่จะมาถึง "การเรียนรู้ภาษาใหม่" หรือภาษาที่สาม ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับใครหลายคนที่อยากจะลองพิชิต เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถมากขึ้น สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่ตั้งใจจะเอาดีทางด้านภาษาและมองหาภาษาที่สามที่น่าสนใจ เพื่อเรียนต่อเฉพาะด้านในระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพออีกต่อไป แต่จะเรียนภาษาอะไร เป็นคำถามใหญ่ที่ต้องมาคิดกัน การตัดสินใจเลือกเรียนภาษาที่สาม ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ครั้งใหญ่ไม่ต่างกับการเรียนรู้ในแขนงอื่นๆ ซึ่งก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องมองการณ์ไกลไปถึงโอกาสของการเรียนภาษาที่สามเหล่านั้น ทั้งจำนวนผู้ใช้ภาษานั้นๆ ทั่วโลก งานที่รองรับผู้มีความสามารถสื่อสารในภาษาที่สามเหล่านั้น รวมทั้งภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ใช้ภาษานั้นๆ นอกจากปัจจัยด้านความมั่นคงเหล่านี้ หลายคนอาจพิจารณาถึงความน่าสนใจของตัวภาษา ประวัติศาสตร์ความเป็นมา รวมถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศเจ้าของภาษานั้นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ ก่อนการตัดสินใจเลือกเรียนภาษาที่สามภาษาใดภาษาหนึ่ง อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายในการเรียนภาษาที่สามที่มากไปกว่าความสามารถในการสื่อสารได้หรือสื่อสารได้คล่อง เพราะผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการเรียนภาษานั้นจะต้องเข้าใจบริบทของภาษา อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรม ของประเทศเจ้าของภาษานั้นๆ อย่างลึกซึ้ง บทความนี้จะพาไปเปิดประสบการณ์ด้านการเรียนภาษาของผู้ที่สนใจ "ภาษาจีน" และมองไกลไปมากกว่าการเข้าใจภาษา นั่นก็คือ ความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รอบด้านในประเทศที่ใช้ภาษานั้น "การเรียนภาษาอย่างเข้าถึงที่สุด คือการได้มีประสบการณ์ในการใช้ภาษานั้น ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ประเทศเจ้าของภาษา และเรียนรู้วัฒนธรรมเหล่านั้นด้วยตัวเอง" นางสาวณิชกมล ส่งศรีมณีกุล หรือ บิ้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (PBIC) กล่าวว่า จากการได้มีโอกาสเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับต้นๆ ของจีน ทำให้มีโอกาสพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาจีนอย่างมาก เนื่องจากมีการเรียนการสอนทางด้านภาษา โดยเฉพาะทักษะด้านการอ่านและการเขียนที่เข้มข้นกว่าที่ไทยอย่างมาก ในส่วนของทักษะการฟัง พูด ก็ได้ใช้เป็นประจำจากการเรียนและใช้ชีวิตอยู่ในจีนร่วม 6 เดือน ทำให้รู้ว่า หลังจากได้มาเรียนที่จีน ทำให้ความสามารถในด้านภาษาของตนเอง พัฒนาขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด "มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ขึ้นชื่อเรื่องการเรียนการสอนที่เข้มข้น อีกทั้งมีการแข่งขันที่สูงมาก ใครที่อยากท้าทายความสามารถตัวเอง และอยากได้รับความรู้กลับไปแบบเต็มๆ แนะนำให้มาเรียนที่นี่เลย" นอกจากความสามารถทางด้านภาษาที่พัฒนาขึ้นแล้ว ความรู้ที่กว้างขึ้นในบริบทการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของจีน ก็เป็นสิ่งพิเศษที่ได้รับจากการเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น อีกทั้งการได้มีโอกาสเรียนกับคณาจารย์ชื่อดังของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในประเด็นที่อาจารย์แต่ละท่านเชี่ยวชาญโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น ด้านการทูต การลงทุน เศรษฐกิจจีน การพูดในที่สาธารณะ วรรณกรรมจีน ฯลฯ ทำให้เข้าใจบริบทต่างๆ ของจีนได้อย่างลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น นอกจากด้านวิชาการที่เข้มข้นแล้ว มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นยังมีชมรมมากมายให้นักศึกษาที่มีความสนใจร่วมกันได้เข้าร่วมและพบปะกัน อย่าง ชมรมปีนเขา ชมรมแบดมินตัน ชมรมวาดรูป ชมรมเต้น เป็นต้น เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นยังมีเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมที่สอดแทรกความเป็นจีนสมัยใหม่ที่มีกลิ่นอายของตะวันตกไว้ด้วย บางพื้นที่ในมหาวิทยาลัยให้ความรู้สึกเหมือนมาเรียนอยู่ในยุโรปด้วยซ้ำ ถือเป็นบรรยากาศการเรียนที่ดีมากๆ ในย่านเมืองจีนสมัยใหม่อย่างเซี่ยงไฮ้ "ชีวิตดีๆ ในเซี่ยงไฮ้ ที่ได้รับการขนานนามว่าไข่มุกแห่งเอเชีย" ด้านการใช้ชีวิตนั้น ถือว่าดีกว่าที่คิดไว้มากๆ อาจด้วยเมืองที่เลือกมาเรียนคือเซี่ยงไฮ้ ถือเป็นเมืองที่พัฒนาแล้ว และทันสมัยที่สุดในประเทศจีน ปัญหาที่หลายคนกังวลอย่างเรื่องห้องน้ำจีน ที่สุดแห่งความสกปรกนั้น แทบไม่ได้เจอเลยในเซี่ยงไฮ้ ส่วนเรื่องการเดินทาง ถือว่าสะดวกสบายมากๆ เพราะขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน รถประจำทาง หรือใครที่เป็นสายชิล ก็สามารถปั่นจักรยานไปไหนต่อไหนได้ตามใจ เมื่อไรก็ได้ เพราะคนที่นี่นิยมปั่นจักรยานกันมากๆ มีเลนจักรยานให้ปั่น รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน อีกหนึ่งความประทับใจในการใช้ชีวิตที่จีนก็คือ การใช้จ่ายที่สะดวกสบาย ประเทศจีนได้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) แล้วอย่างแท้จริง คนจีนไม่พกเงินสดกันเลย เพราะสามารถจ่ายเงินซื้อทุกอย่างแม้กระทั่งร้านข้างทางทั่วไป ผ่านแอปพลิเคชัน จือ ฟู่ เป่า หรือ Ali Pay นอกจากนี้คนจีนยังนิยมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์อย่างมาก อย่างแอปฯ เถาเป่า (Taobao) ซึ่งมีของทุกประเภทให้เลือกซื้อ อีกทั้งสะดวกในการจ่ายเงิน และขนส่ง จนอาจติดนิสัยความสะดวกสบายในการใช้เงินจากจีนเลยก็ว่าได้ สุดท้ายนี้ การได้มีโอกาสได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในโครงการศึกษาแลกเปลี่ยนของหลักสูตรนานาชาติจีนศึกษา พีบีไอซี ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะความมั่นใจในการนำภาษาจีนที่เรียนรู้มาไปใช้อย่างเข้าใจในบริบทของจีนอย่างรอบด้าน ความเข้าใจธรรมชาติของคนจีนจากการได้ไปใช้ชีวิตในสังคมจีนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นของพีบีไอซี มธ. ที่มีมากกว่าการเรียนการสอนด้านภาษาเพียงอย่างเดียว ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่รอบด้าน และลึกซึ้งเกี่ยวกับจีนออกไปต่อสู้ในตลาดแรงงานที่ต้องการบุคลากรด้านจีนที่มีคุณภาพได้ บิ้ว กล่าวทิ้งท้าย สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ในพื้นที่เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือไทย ด้วยการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ และโอกาสที่จะได้ศึกษาแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชื่อดังในต่างประเทศ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ