เปิดโครงการค่าย “ป๋วย เรนเจอร์ จูเนียร์” นำเด็กนักเรียน 7 โรงเรียนต้นแบบ ออกสัมผัสธรรมชาติวิถีชีวิตชนบท และเรียนรู้การทำดี ตามปณิธาน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ข่าวทั่วไป Monday November 19, 2018 12:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เปิดโครงการค่าย "ป๋วย เรนเจอร์ จูเนียร์" นำเด็กนักเรียน 7 โรงเรียนต้นแบบ ออกสัมผัสธรรมชาติวิถีชีวิตชนบท และเรียนรู้การทำดี ตามปณิธาน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ประเดิมอัสสัมชัญ โรงเรียนแรกของ ดร.ป๋วย เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป๋วย อึ๊งภากรณ์ จ.ชัยนาท ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการอำนวยการ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดค่ายกิจกรรมเพื่อเยาวชนสืบสานปณิธาน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ค่าย "ป๋วย เรนเจอร์ จูเนียร์"ให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษา 4- 6 โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพ จำนวน 50 คน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักธรรมชาติ เรียนรู้วิธีดำรงชีพในชนบทอย่างปลอดภัย ได้สัมผัสประสบการณ์ชีวิตชนบท และเกษตรกรรมพื้นฐาน อันเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกัน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อสร้าง และปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าทำความดี เพื่อประเทศชาติต่อไป อันเป็นปณิธานของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ค่ายกิจกรรม ป๋วย เรนเจอร์ จูเนียร์ ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้แต่ละเรื่องให้เด็กได้ลงมือปฎิบัติเองทุกเรื่อง ทั้งเป็นกลุ่ม และทำคนเดียว ให้เด็กได้สรุปบทเรียนที่ตนได้เรียนรู้ทุกวัน และให้เด็กได้ฟังเรื่องราวการทำดีของผู้ใหญ่ในอดีต เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการสืบสานต่อไปในอนาคต โดยกิจกรรมในค่ายออกแบบสำหรับเยาวชนระดับประถม ปีที่ 4- 6 ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ และเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความกล้าคิด กล้าลองเด็กๆจะใช้เวลาในค่าย 3 วัน เพื่อเรียนรู้ชีวิต และได้รับความสนุกสนานจากฐานกิจกรรมธรรมชาติต่างๆ ภายในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาทิ ฐานทักษะชีวิต ฐานความสูงเปลี่ยนชีวิต ฐานสะพานเชือกข้ามน้ำ รักข้ามคลอง ฐานถ้ำสมบัติ ไปจนถึงการลงมือปลูกข้าว ดำนา เก็บผัก ก่อนลงมือปรุงอาหารเอง ในฐานพ่อครัวจูเนียร์ นอกจากนี้เด็กนักเรียนจะได้ออกไปทัศนศึกษานอกศูนย์การเรียนรู้ฯเพื่อสัมผัสธรรมสวยงามของ จ.ชัยนาท อาทิ สวนนก เขื่อนเจ้าพระยา เป็นต้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้กล่าวว่า ค่ายป๋วย เรนเจอร์ จูเนียร์ ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์และองค์ความรู้สิ่งรอบตัวให้แก่เยาวชนไทยรุ่นใหม่ โดยรุ่นแรกได้คัดเลือกเด็กนักเรียนระดับประถมวัย 9-11 ปีที่อยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น กล้าคิด กล้าลอง เข้ารับการอบรม ครั้งละไม่เกิน 50 คน ระยะเวลา 3 วัน 2 คืนให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำกิจกรรมต่างๆ และแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ สำหรับโรงเรียนแรกที่ตอบรับคำเชิญส่งเด็กนักเรียนเข้าร่วมค่ายดังกล่าว คือ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพ ซึ่งมีประวัติเป็นโรงเรียนระดับประถม ถึงมัธยมฯ ที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เรียนจบ และได้รับเชิญให้กลับไปสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ รุ่นถัดไปในช่วงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตชีวประวัติของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้รับการบรรจุในบทเรียนของ นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพอีกด้วย ด.ช.ธนบดี อัศวสืบสกุล "โฟกัส" เด็กนักเรียน ชั้นป.6 โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ หนึ่งในเด็กนักเรียนที่มีโอกาสเข้าค่ายป๋วยเรนเจอร์จูเนียร์ ครั้งแรก เปิดเผยว่า ที่ตัดสินใจมา เพราะอยากสัมผัสชีวิตชนบท ที่ชีวิตจริงครอบครัวยังไม่เคยพามา กิจกรรมสนุกทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตอาจารย์ป๋วย รู้จักวิถีชุมชนมากขึ้นนอกจากที่เคยเรียนมา คิดว่าชนบทไม่ได้ลำบากอย่างที่คิด และชาวชนบทมีความอดทน และตั้งใจจริง ด.ช.จักรภัทร จิระวันชัยกูล "ปลาวาฬ" ชั้น ป.6 โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ อีกหนึ่งคนที่มีความประทับใจค่ายป๋วยเรนเจอร์จูเนียร์ เปิดเผยว่า ที่อยากมาค่ายนี้ เพราะอยากฝึกความเป็นนำ และเป็นผู้ตามที่ดี จากปกติที่เราเชื่อฟังพ่อแม่ แต่กิจกรรมในค่ายสอนให้เรารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น กิจกรรมที่ประทับใจที่สุด คือ การดำนาปลูกข้าว ตอนแรกก็คิดว่า "ดำนาไม่เป็น คงทำไม่ได้" แต่พอได้ลองทำดู รู้สึกว่าไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจของเรา อีกคนที่รี่วมสะท้อนสิ่งที่ได้รับจากการเข้าค่ายป๋วยเรนเจอร์จูเนียร์ ด.ช. ณัฐ แม้นหิรัญ "บิว"ชั้นป.6 โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าวงดุริยางค์ของโรงเรียน น้องบิวกล้าแสดงออก และสร้างความสนุกสนานให้แก่เพื่อนๆ ร่วมค่ายเป็นอย่างมาก เขาบอกว่า ที่มาค่ายเพราะอยากมาเรียนรู้การดูแล ฝึกน้องๆวงดุริยางค์ทั้งรุ่นปัจจุบันจำนวน 30-40 คน และน้องรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามา เพื่อให้น้องๆมีระเบียบวินัย น้องบิว รู้สึกเช่นเดียวกับเพื่อนๆที่ประทับใจฐานดำนามากที่สุด เพราะอยากรู้ว่าการทำนาจะยากขนาดไหน ชาวนาต้องลำบากแค่ไหนกว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ด นอกจากฐานกิจกรรมการให้เด็กๆได้สัมผัสชีวิตชนบทในรูปแบบต่างๆ ทั้งการให้อาหารสัตว์เลี้ยง ปลูกผัก ดำนาแล้วยังมีฐานกิจกรรมต่างๆ ที่ภายในศูนย์การเรียนรู้ได้นำมาจัดสรรไว้ภายในศูนย์ฯให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเข้าถึง เข้าใจวิถีชุมชนชนบทมากยิ่งขึ้น สำหรับค่ายต้นแบบที่เกิดขึ้นได้ในปี 2561 เนื่องจากการสนับสนุนของเอกชน 7 ราย ได้แก่ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท โงวฮก จำกัด บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด เพื่อนำไปใช้เป็นทุนในการจัดกิจกรรมให้เด็กๆจำนวน7ค่ายกิจกรรม โดยโรงเรียนถัดไป ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล โรงเรียนกุหลาบวิทยา โรงเรียนวัดอ้ออีเขียว จ.ราชบุรี โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองและโรงเรียนสุขานารี เป็นต้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้กล่าวอีกว่า ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2510 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำในการก่อตั้งร่วมกับคณะบุคคลในภาคราชการ และเอกชน ด้วยความมุ่งมั่นที่บูรณะและพัฒนาให้ประชาชนในชนบทไทยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 33 ไร่ ของจังหวัดชัยนาท เป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิด และวิธีปฎิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ภายในประกอบด้วย อาคารต่างๆ เพื่อรองรับการฝึกอบรม และกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงฐานกิจกรรม แปลงสาธิต เกษตรอินทรีย์ โดยมีเรือนพักอำนวยความสะดวก รองรับผู้เข้าอบรมสัมมนาประมาณ 122 คน ต่อครั้ง มีห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่รวม 3 ห้อง ตั้งอยู่บนถนนฝ่ายน้ำล้น ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.ชัยนาท
แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ