สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 12-16 พ.ย. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 19-23 พ.ย. 61 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 19, 2018 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ปตท. สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์วันที่ 12-16 พ.ย. 61 และคาดการณ์สัปดาห์วันที่ 19-23 พ.ย. 61 ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 4.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 4.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 56.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 69.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 3.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 85.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - สหรัฐฯ ผ่อนผันให้ 8 ประเทศ สามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้อีกเป็นเวลา 180 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 61 ที่มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านเริ่มบังคับใช้ เพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงตัวของอุปทานในตลาด - Energy Information Administration (EIA) ประเมินว่าการผลิต shale oil ของสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 61 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 113,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 442.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 12 เดือน - IEA คาดการณ์ในรายงานเดือน พ.ย. 61 ว่าอุปทานน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอุปทานจากกลุ่ม Non-OPEC ในปี พ.ศ. 2561 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี พ.ศ. 2562 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณสำรองน้ำมันเชิงพาณิชย์ของกลุ่ม Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD ในเดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 12.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 2,875 ล้านบาร์เรล สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี - Reuters รายงานว่ารัสเซียจะไม่ร่วมมือกับ OPEC ในการลดการผลิตน้ำมันดิบอีกต่อไป เนื่องจากรัสเซียต้องการให้การผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นปีละ 100,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซียปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว แต่ยังยืนยันว่าจะยังคงผูกความสัมพันธ์กับ OPEC ต่อไป - Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 888 แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 - Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Positon) ลงจากสัปดาห์ก่อน 8,259 สัญญา มาอยู่ที่ 165,121 สัญญา ต่ำสุดตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 60 ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นาย Khalid al-Falih เผยว่า ซาอุดีอาระเบียมีแผนจะลดปริมาณการส่งมอบน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 61 ลงปริมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในเดือน พ.ย. 61 ที่ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และย้ำว่าอุปทานน้ำมันดิบปัจจุบันอยู่ในระดับสูงดังนั้นผู้ผลิตน้ำมันทั้ง OPEC และชาติพันธมิตร นำโดยรัสเซียควรลดปริมาณการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับเดือน ต.ค. 61 - สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานอัตราการกลั่นของประเทศ เดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.6% อยู่ที่ระดับ 12.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคา NYMEX WTI ทรงตัว จากกระแสคาดการณ์ว่ากลุ่ม OPEC นำโดยซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรนอกกลุ่ม (Non OPEC) นำโดยรัสเซีย จะตกลงร่วมกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวม 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 1.5 % ของอุปทานน้ำมันโลก ในการประชุมวันที่ 6 ธ.ค. 61 ที่ประเทศออสเตรีย ประกอบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโร หลังรองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายRichard Clarida ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะสั้นจะเริ่มทรงตัว ใกล้จุดที่เหมาะสม ด้านการเมืองโลกตึงเครียด หลังหนังสือพิมพ์ Washington Post รายงานข่าวอ้างถึงหลักฐานจากหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ CIA บ่งชี้ว่ามกุฎราชกุมาร Mohammed bin Salman อยู่เบื้องหลังการสังหารนาย Jamal Khashoggi ที่กรุง Istanbul ประเทศตุรกี โดยอ้างถึงโทรศัพท์จากเจ้าชาย Khaled bin Salman ที่แนะนำให้ นาย Khashoggi ไปดำเนินการเอกสารที่สถานกงสุลซาอุดิอาระเบีย โดยรับรองความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกส่อเค้าเปราะบางจากความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน โดยการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation ในวันที 18 พ.ย. 61 ผู้นำ 21 ประเทศ ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยจุดขัดแย้งคือ เรื่องการปฏิรูปองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Mike Pence เตือนประเทศเล็กให้ระมัดระวังโครงการโครงสร้างพื้นฐาน Belt-and-Road ของจีน เนื่องจากเงินกู้ที่เสนอจะก่อให้เกิดภาระหนี้สิน ต่างจากโครงการของสหรัฐฯ ที่จะช่วยลดการพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศ หลังนายกรัฐมนตรีจีน นาย Xi Jinping แถลงโครงการดังกล่าวไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ และนโยบายปกป้องทางการค้า "America First" ของสหรัฐฯ เป็นแนวทางการหาผลประโยชน์แต่เพียงในระยะสั้น และจะล้มเหลว ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.0-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 55.0-59.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.5-68.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจาก Reuters คาดการณ์ตลาดน้ำมันเบนซินในจีน ไตรมาส 4/61 ไม่แข็งแกร่งเพราะยอดขายรถยนต์ในประเทศชะลอตัว โดย China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) รายงานปริมาณการผลิตรถยนต์ เดือน ต.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 0.9 % อยู่ที่ 2.33 ล้านคัน ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์เดือน ต.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 0.6% อยู่ที่ 2.38 ล้านคัน และ Sinopec Economic Research Institute ของ Sinopec ประเทศจีนเผยว่าปริมาณความต้องการน้ำมันเบนซินในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง หลังจากการเปลี่ยนไปใช้ Ethanol เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับ บริษัท Korea Petrochemical ของเกาหลีใต้เผยว่ามีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย Stream Cracker (กำลังการผลิต 80,000 ตันต่อปี) ที่โรงกลั่น Onsan (กำลังการกลั่น 670,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงไตรมาส 2/62 เป็นเวลา 30 วัน ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.02 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.96 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 430,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.25 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ศรีลังกาและอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน และ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานยอดขายน้ำมันเบนซิน ในเดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.6 % อยู่ที่ 640,000 บาร์เรลต่อวัน และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 226.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.5-71.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องสำนักอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นพยากรณ์ว่ามีโอกาส 70% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ El Niño ช่วงฤดูใบไม้ผลิในแถบเอเชียเหนือ ซึ่งอาจทำให้ฤดูหนาวในเอเชียไม่หนาวเย็นจัดนัก และอุปทานน้ำมันในตลาดน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นในภูมิภาคเร่งผลิตน้ำมันดีเซล เพื่อรองรับความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาว และลดการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ หลัง น้ำมันดีเซลให้ผลตอบแทนค่าการกลั่นสูงกว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ขณะที่การทำน้ำมันดีเซล Blending ชะลอตัว และ Arbitrage น้ำมันดีเซลจากตะวันออกไปตะวันตกปิด ประกอบกับ บริษัท Nayara Energy ของอินเดียจะกลับมาดำเนินการโรงกลั่น Vadinar (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ย. 61 หลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง 1 เดือน ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 170,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.32 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานยอดขายดีเซล ในเดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.7 % อยู่ที่ 1.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ บริษัทน้ำมันของจอร์แดน ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณรวม 3.5 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ม.ค. – มิ.ย. 62 อนึ่ง ระดับน้ำในแม่น้ำไรน์ที่ยุโรปลดลงส่งผลให้การขนส่งน้ำมันดีเซลทางแม่น้ำสู่คลังน้ำมันเพื่อป้อนตลาดยุโรปหยุดชะงักเกิดปัญหาอุปทานน้ำมันขาดแคลน ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 340,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.82 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 119.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.5-85.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ