เสริมแกร่งระบบข้อมูลทางธุรกิจ ด้วย “ไอโอที”

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday November 21, 2018 12:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--มายด์ พีอาร์ นายสุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เทคโนโลยี "อินเทอร์เน็ต" จัดว่าเป็น โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลที่ใช้งานกันอย่างคุ้นเคยมานานกว่าสามสิบปีแล้ว จนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวิถีชีวิตผู้คนและการดำเนินธุรกิจขององค์กรไปแล้ว แต่การสื่อสารในโลกยุค 4.0 ที่เต็มไปด้วยการไหลเวียนข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างเร็ว ตลอดจนการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้าสู่ระบบออนไลน์จำนวนมหาศาลมากกว่าที่เป็นมาในอดีต ทำให้ต้องมีการขยายประสิทธิภาพการทำงานของอินเทอร์เน็ตจากเดิมที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่าง "ผู้คนและองค์กร" ไปสู่แพลตฟอร์มเครือข่ายสื่อสารข้อมูลรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า " ไอโอที หรือ Internet of Things (IoT)" ในการเชื่อมต่อ "ทุกสิ่ง (Things)" อันประกอบด้วย ผู้คน องค์กร และ "อุปกรณ์หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว" เพื่อให้เกิดการพัฒนา "ระบบข้อมูล" ที่ครบถ้วน รอบด้าน รวมถึงสามารถรองรับการเคลื่อนที่ของข้อมูลปริมาณมากที่เกิดจากการใช้งานผ่านอุปกรณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายเทคโนโลยี โดยที่องค์กรสามารถหยิบจับข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ เพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน กลยุทธ์การตลาด หรือโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เพิ่มมูลค่าทางการค้า และความได้เปรียบในการแข่งขันได้แม่นยำยิ่งกว่าเดิม ทำไม "อุปกรณ์หรือสิ่งต่าง ๆ" จึงสำคัญต่อระบบข้อมูล ?... เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ อุปกรณ์ใช้งานภายในบ้าน ซึ่งได้รับการพัฒนาและปรับแต่งให้กลายเป็น "อุปกรณ์ไอโอที (IoT Devices) ที่มีความ "ชาญฉลาด" ใกล้เคียงความเป็นอุปกรณ์ "สมองกล" ด้วยการติดตั้งชิปประมวลผล หน่วยความจำ หรืออุปกรณ์เซ็นเซอร์ และสามารถเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต บลูทูธ หรือ ไวไฟ ไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ รอบตัว ทำให้สามารถรับ-ส่ง จดจำ ประมวลและแปลงสัญญาณข้อมูล เพื่อการสื่อสารหรือสั่งการทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรที่ให้ความสนใจ หรือเข้มข้นในเรื่องไอโอที จะได้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้ในการตรวจวัดและตรวจจับข้อมูลที่ไหลไปมาระหว่างอุปกรณ์ไอโอทีต่าง ๆ ไว้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า "เซ็นเซอร์ (Sensors)" และอาจทำให้องค์กรได้ค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ โดยเฉพาะข้อมูลประเภทที่เป็น "Dark Asset" อย่างข้อมูลที่องค์กรเห็นว่าเป็นประโยชน์แต่ไม่เคยจัดเก็บได้มาก่อน ข้อมูลที่องค์กรเคยมองข้ามแต่กลายเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อองค์กรในปัจจุบัน หรือ ข้อมูลที่ไม่เคยเชื่อมต่อกันได้ในอดีต นำมาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงสินค้าหรือบริการ พัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงาน การคิดค้นกลยุทธ์การตลาด หรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อครองใจกลุ่มลูกค้าเดิม และซื้อใจลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ข้อมูลที่รวบรวมได้จากเซ็นเซอร์ ยังถือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกปรุงแต่ง (Raw Data) จึงเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องความแม่นยำของข้อมูลที่มาจากข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริหารสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังตัวอย่างร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่จะมีการเก็บสถิติพฤติกรรมการสืบค้นสินค้าหรือบริการ เพื่อประเมินสิ่งที่ลูกค้ากำลังต้องการหรือให้ความสนใจ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อสร้างแคมเปญโฆษณา ดีลสินค้าราคาพิเศษ หรือปรับปรุงช่องทางเข้าถึงสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่รวดเร็วและตรงกับที่ลูกค้าคาดหวังได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางการขายให้กับธุรกิจ หรือ การใช้ไอโอทีในการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อสร้างสรรค์ลูกเล่นทางการตลาดที่โดดเด่นเหนือคู่แข่ง เช่น เครื่องสำอางค์ ลอรีอัล ได้ออกแบบสติกเกอร์ขนาดเล็ก ซึ่งฝังเซ็นเซอร์ตรวจจับรังสียูวีเอาไว้สำหรับติดที่เล็บนิ้วมือ แว่นตา หรือนาฬิกา รวมทั้งมีการออกแบบแอปพลิเคชันที่ให้ลูกค้าสามารถอ่านค่ารังสียูวีผ่านอุปกรณ์กล้องบนสมาร์ทโฟน เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง หรือประเมินผลกระทบของรังสียูวีที่มีต่อผิวหนัง ซึ่งนอกจากจะเป็นข้อมูลที่เกิดประโยชน์โดยตรงต่อตัวลูกค้า ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่จำหน่ายในปัจจุบัน และตอกย้ำภาพลักษณ์ขององค์กรที่มุ่งคำนึงถึงลูกค้าเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน ข้อมูลค่ารังสียูวีที่วัดได้จากผิวหนังของลูกค้าแต่ละราย ยังเป็นประโยชน์ต่อการนำไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันรังสียูวีใหม่ ๆ เพิ่มเติมในอนาคต อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากเครือข่ายสื่อสารไอโอทีจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ก็ต่อเมื่อเป็น "การเก็บข้อมูลแบบมีวัตถุประสงค์" เช่น เป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวอุปกรณ์เองเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงาน ข้อมูลสภาพแวดล้อมการใช้งานเพื่อประเมินปัจจัยที่อาจเป็นปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า ข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ของลูกค้าเพื่อการพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการให้โดนใจ เป็นต้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ข้อมูลที่ได้จะมากด้วยปริมาณแต่ไม่มีคุณภาพ ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งแบนด์วิธ และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด ซึ่งสถาบันวิจัยชั้นนำอย่าง แมคคินซี ก็ยังยืนยันในประเด็นนี้ไว้ว่า "เซ็นเซอร์ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลในไอโอทีได้ตรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กร สามารถนำไปใช้คาดการณ์ความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต รวมทั้งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงได้มากกว่า 40% เลยทีเดียว" ส่วนองค์กรใดที่สามารถบูรณาการการใช้ไอโอทีเข้ากับเทคโนโลยีใหม่อื่น ๆ อย่างเช่น บิ๊ก ดาต้า หรือปัญญาประดิษฐ์ ในรูปแบบต่าง ๆ ก็จะช่วยให้เกิดการ "วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก" ที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหรือการคาดการณ์ที่แม่นยำ เช่น การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องจักรเพื่อตรวจสอบความผิดปกติ ซึ่งทำให้องค์กรสามารถรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเตรียมการควบคุมแก้ไขได้ทันท่วงที หรือนำไปใช้ในการคำนวณระยะเวลาที่ต้องมีการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุด เพื่อให้องค์กรเกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือ เกิดประสิทธิผลในระดับที่สามารถ "ควบคุมหรือสั่งงานตัวเองได้โดยอัตโนมัติ" ดังที่ได้เห็นกันบ้างแล้วในปัจจุบันว่า เราสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนเพื่อสั่งการเปิดปิดระบบไฟฟ้าภายในบ้าน คอมพิวเตอร์ในดาต้า เซ็นเตอร์ สามารถแจ้งเตือนข้อมูลความผิดปกติไปยังผู้ดูแลระบบด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ การควบคุมรถขนส่งสินค้าด้วยระบบจีพีเอส เพื่อระบุตำแหน่งรถและประเมินประสิทธิภาพการจัดส่งสินค้าได้ตรงเวลา หรือ การควบคุมสภาพการจราจรบนท้องถนนผ่านออนไลน์ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเมืองในแบบสมาร์ท ซิตี้ เป็นต้น ถึงแม้ ไอโอที จะกลายมาเป็นหนึ่งในโครงข่ายสื่อสารสำคัญในการเข้าถึง "ข้อมูล" ที่ต้องมีในยุค 4.0 แต่องค์กรยังต้องเชิญกับความท้าทาย ไอโอที ที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาและวางแผนการรับมือได้อย่างเหมาะสม อาทิ การกำหนดแนวทางการเก็บรวบรวมข้อมูลบนไอโอทีขององค์กรที่ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การออกแบบแพลตฟอร์มด้านซอฟต์แวร์ที่จะมาช่วยบูรณาการการจัดเก็บและจัดการข้อมูลที่มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และการทำนายผลที่แม่นยำ การพัฒนาระบบข้อมูลขององค์กร ไม่ว่าจะจัดเก็บในศูนย์ดาต้า เซ็นเตอร์ หรือบนคลาวด์ ให้สามารถรองรับอุปกรณ์ของลูกค้าที่มีเทคโนโลยีแตกต่างกันออกไป และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างระบบความปลอดภัยจากภัยคุกคามไซเบอร์ที่เกิดจากการต่ออุปกรณ์ที่มีเซ็นเซอร์นับหลายล้านตัว ซึ่งทำให้แฮกเกอร์สบช่องที่จะเข้ามาก่อกวนระบบงานได้สูง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้การใช้งานไอโอทีสามารถขยายขอบข่ายการดำเนินธุรกิจ ให้เกิดความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน และต่อยอดไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ