สรุปผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2561

ข่าวทั่วไป Thursday December 6, 2018 13:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--หอการค้าไทย ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2561 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อำนาจซื้อลดน้อยลง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังมีราคาต่ำ นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดน้อยลง และสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีเริ่มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันชะลอตัวลง และความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลง ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้นและราคาน้ำมันขายปลีกทั้งราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับตัวลดลงต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 67.5 75.6 และ 98.4 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนตุลาคม 2561 ที่อยู่ในระดับ 68.4 76.5 และ 99.0ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก การปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 81.3 มาอยู่ที่ระดับ 80.5 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการทรงตัวอยู่ในระดับสูงของราคาน้ำมันในประเทศไทยและในตลาดโลก ปัญหานักท่องเที่ยวจีนที่ยังชะลอตัวลง สถานการณ์ทางการเมืองของไทย สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 55.6 มาอยู่ที่ระดับ 54.3 แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 92.6 มาอยู่ที่ระดับ 92.0 ซึ่งยังปรับตัวอยู่ใกล้เคียงระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะสังเกตได้ว่า การปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนนี้ เป็นการปรับตัวที่ลดลงค่อนข้างมากสำหรับความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ขณะที่ความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงค่อนข้างน้อย เนื่องจากปัจจัยบวกเริ่มมีมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบโดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้นและสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มมีการเจรจากัน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival และมาตรการช๊อปช่วยชาติ ซึ่งน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ และน่าจะส่งผลบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ