กรมสรรพากรชี้แจงข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (e-Payment)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 7, 2018 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....(เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)) โดยชี้แจงว่า "ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 นั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี โดยเป็นการแก้ไขกฎหมาย ให้รองรับการทำธุรกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การให้ผู้จ่ายเงินได้สามารถเลือกวิธีการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายผ่านตัวกลาง (เช่น ธนาคาร) โดยผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรในภายหลังอีก พร้อมทั้งสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี โดยมิได้มุ่งเน้นที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าทางออนไลน์หรือธุรกิจหนึ่งธุรกิจใดเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้ว จำนวน 3 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) และเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนทั่วไปทางเว็บไซต์และทางหนังสือ จำนวนรวมกว่า 400 ราย โดยในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกรมสรรพากรได้ประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงร่างให้สอดคล้องกับผู้ใช้กฎหมายอย่างแท้จริงและไม่ก่อให้เกิดภาระเกินสมควร" โฆษกกรมสรรพากร กล่าวต่อไปว่า "ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการตรากฎหมายอย่างรอบคอบ โดยได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิของบุคคล การรักษาความเป็นส่วนตัว และการรักษา ความปลอดภัยของข้อมูลอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และการจัดเก็บภาษีอากรมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยรายได้ให้รัฐนำไปใช้จัดบริการสาธารณะต่าง ๆ แก่ประชาชน การรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตามร่างพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้" โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า "การกำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งข้อมูลแก่กรมสรรพากรมิได้ขัดแย้งกับนโยบายสังคมไร้เงินสดของรัฐบาล เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันมีความสะดวกรวดเร็วและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และหากผู้ประกอบการมีประวัติทางการเงินที่ถูกต้องและโปร่งใส ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และการขอสินเชื่อต่าง ๆ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการขึ้นไปอีก ทั้งนี้ กรมสรรพากรทราบว่า การรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารนั้นมิได้หมายความว่าเงินจำนวนทั้งหมดต้องนำไปเสียภาษี เนื่องจากในหลายกรณีมิได้เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น การคืนเงินกู้ยืม การรับเงินที่ฝากไปทำบุญแทน เป็นต้น โดยกรมสรรพากรจะนำข้อมูล ที่ได้รับไปประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อประกอบการจัดกลุ่มผู้เสียภาษีในการดูแลและให้บริการ ที่เหมาะสมต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ