นักวิจัย มรภ.สงขลา ปิ๊งไอเดีย “พาราบาติก”คิดค้นสีเพ้นท์ผ้าจากน้ำยางธรรมชาติ สร้างรายได้ชุมชน

ข่าวทั่วไป Friday December 21, 2018 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--มรภ.สงขลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมฯ มรภ.สงขลา คิดค้นงานวิจัยเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติ ปิ๊งไอเดียสีเพ้นท์ผ้าบาติกจากน้ำยาง สร้างรายได้ชุมชน เผยจุดเด่นนักท่องเที่ยววาดลวดลายเองได้ เหมาะเป็นของที่ระลึกแทนใจ ดร.สุวิมล ศิริวงศ์ อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยสีเพ้นท์เสื้อและผ้าบาติกจากน้ำยางธรรมชาติ ว่า มีที่มาจากแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าน้ำยางธรรมชาติให้กับคนในชุมชน เนื่องจากน้ำยางเพ้นท์เสื้อที่มีขายในปัจจุบันมักประสบปัญหาไม่สามารถเพ้นท์บนเสื้อสีเข้ม เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีน้ำเงิน สีแดง ฯลฯ ได้ กล่าวคือ เมื่อน้ำยางธรรมชาติแห้งลงยางจะมีความใสขึ้นทำให้มองเห็นเส้นยางไม่ชัดและสีไม่สดใสนัก ดังนั้น ตนจึงคิดค้นสูตรน้ำยางเพ้นท์เสื้อที่สามารถเพ้นท์ลงบนเสื้อสีเข้มได้ ซึ่งชุมชนสามารถทำเองได้จากวัตถุดิบน้ำยางธรรมชาติที่มีอยู่นอกจากการเพ้นท์เสื้อแล้วยังมีการทำผ้าบาติกจากน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้างานฝีมือที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก นับเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนไปพร้อมกับการเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติ ตามปรัชญาของ มรภ.สงขลา ที่ว่า สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ดร.สุวิมล กล่าวว่า การพัฒนาน้ำยางเพ้นท์เสื้อเป็นการตอบสนองความต้องการของชุมชนในการทำเสื้อของฝากของที่ระลึก ที่แต่เดิมมักจะใช้วิธีการสกรีนโดยใช้บล็อกเป็นรูปแบบตายตัว แต่หากนักท่องเที่ยวสามารถลงมือทำและวาดลวดลายที่ต้องการหรือลงลายเซ็นบนเสื้อได้ด้วยตัวเอง จะเป็นการเพิ่มตัวเลือกและเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเสื้อเพื่อเป็นของที่ระลึกเพิ่มมากขึ้น สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจากนำน้ำยางธรรมชาติมาทำให้สะอาด จากนั้นนำมาแยกชั้นใส่สารเพิ่มความหนืด ทำให้เกิดการแยกชั้นให้ยางเบากว่าน้ำ นำส่วนที่เป็นน้ำออกไปบางส่วนให้น้ำยางมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น จากเดิมน้ำยางจะอยู่ที่ 25% แต่เมื่อทำให้เข้มข้นขึ้นแล้วน้ำยางจะอยู่ที่ 60% หลังจากนั้นนำน้ำยาง 60% ที่ได้ไปผสมกับสารเคมีเพิ่มความหนืด เพื่อให้น้ำยางจับเป็นเส้นและน้ำยางไม่จางลง ช่วยให้คงความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น "ยางธรรมชาติเป็นพืชเศรษฐกิจในภาคใต้ของประเทศไทย โดยทั่วไปจะถูกขายในรูปวัตถุดิบ เช่น น้ำยาง ยางแผ่น ยางแท่ง ยางก้อนถ้วย ฯลฯ ซึ่งเมื่อเทียบราคาต่อหน่วยกิโลกรัมแล้ว มีมูลค่าน้อยกว่าการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มาก ดังนั้น หากส่งเสริมให้มีการแปรรูปยางธรรมชาติให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่น่าสนใจ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางธรรมชาติอย่างมหาศาล" อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา กล่าวและว่า ทั้งนี้ มรภ.สงขลา ได้นำผลงานวิจัยสีเพ้นท์เสื้อและผ้าบาติกจากน้ำยางธรรมชาติ ไปร่วมจัดแสดงในงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ"ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 5" ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งนอกจากการสาธิตเพ้นท์เสื้อแล้ว ยังมีการเพ้นท์กระเป๋าผ้า การทำผ้าบาติก และหมวกจากน้ำยางธรรมชาติอีกด้วย โดยได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป เข้ามาทดลองเพ้นท์ผ้าบาติกจากน้ำยางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ