กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมติดตามสถานการณ์พายุ“ปาบึก (PABUK)”

ข่าวทั่วไป Monday January 7, 2019 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกรมอุตุนิยมวิทยา เกาะติดสถานการณ์พายุโซนร้อน "ปาบึก" แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณ16 จังหวัด ครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย รวมถึงประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง แนะประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยบนเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนการพยากรณ์อากาศ 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ว่า คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการปฏิบัติงานด้านติดตามสถานการณ์ด้านสาธารณภัย กรณีพายุโซนร้อน "ปาบึก (PABUK)" อย่างใกล้ชิด โดยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุดมีประกาศฉบับที่ 18 เมื่อเวลา 12.45 น. แจ้งเตือน ประชาชนในช่วงวันที่ 4 – 5 มกราคม 2562 บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง โดยประกาศฉบับดังกล่าว ระบุว่าพายุลูกนี้มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 เมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณระหว่างอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือละติจูด 8.2 องศาเหนือ ลองติจูด 100.2 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 เมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น และเคลื่อนเข้าปกคลุมจังหวัดสุราษฎร์ธานีในระยะต่อไป โดยมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคใต้ในช่วง 4 – 5 มกราคมนี้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักมาก ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีลมแรงบริเวณ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยคลื่นสูง 3 – 5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร "การติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน "ปาบึก (PABUK)" ในครั้งนี้ผมได้ติดตามการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด กับคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งการเปิดศูนย์ฯ นี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อเตรียมความพร้อม อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัด ประกอบไปด้วย ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม" นายพิเชฐกล่าว ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงข่ายสื่อสารในพื้นที่เสี่ยงภัยทางภาคใต้ทั้งหมดแล้ว และทีโอที ได้เข้าติดตั้งระบบโทรศัพท์ให้กับศูนย์พักพิง ณ จังหวัดสงขลา จำนวน 17 แห่ง รวมทั้งอยู่ระหว่างเข้าไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ใช้งาน และ กสท โทรคมนาคม ได้นำวิทยุสื่อสาร DTRS ส่งให้สำนักงานของกรมอุตุฯ ในจังหวัดเสี่ยงภัยและจังหวัดใกล้เคียงรวม 16 จังหวัด และได้นำส่งโดย ปณท. เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งวิทยุดังกล่าว ส่งถึงเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการติดตามสถานการณ์ และรายงานประกาศแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบข่าวพยากรณ์ และเพื่อเตรียมความพร้อมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ