ก.แรงงาน ขับเคลื่อน 3A เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Super Worker

ข่าวทั่วไป Tuesday February 12, 2019 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก.แรงงาน ขับเคลื่อนนโยบาย 3A เพิ่มผลิตภาพแรงงานแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs กลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน เพิ่มกำไร ลดต้นทุนในวงจรการผลิต พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลภาพรวม SMEs ในประเทศไทย ปี 2560 มี SMEs กว่า 3 ล้านราย (ครอบคลุมการจ้างงาน มากกว่า 11 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมมากกว่า 5 ล้านล้านบาท/ปี ดังนั้น การช่วยเหลือ SME เป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน เพื่อเป็นการวางรากฐาน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี กระทรวงแรงงาน จึงจัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SMEs 4.0 ขึ้น เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบกิจการ SME ผ่านกระบวนการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ขยายการให้บริการภาครัฐ ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs กลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน จำนวน 228 แห่ง พัฒนากำลังแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super. Worker) จำนวน 15,000 คน โดยกลุ่มเป้าหมายจะประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการ SME/OTOP/วิสาหกิจชุมชน ที่มีลูกจ้างหรือสมาชิก ไม่เกิน 200 คน ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์จากการให้คำปรึกษาเชิงลึกจากที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดการสูญเสีย ลดต้นทุน ลดกระบวนการในวงจรการผลิต โดยจะให้คำแนะนำตลอดระยะเวลา 210 วัน พร้อมทำหน้าที่ร่วมกับบุคลากรของสถานประกอบกิจการวิเคราะห์งาน เพื่อแก้ไขปัญหาในกระบวนงานต่างๆ ร่วมกันจัดทำหลักสูตรและจัดฝึกอบรมให้ความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบกิจการ ผลการดำเนินการโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานที่ผ่านมา 6 ปี (2556 – 2561 พัฒนาทักษะแรงงานกว่า 85,400 คน มูลค่าเพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดการสูญเสียในวงจรการผลิต จำนวน 5,400 ล้านบาท/ปี ให้กับสถานประกอบกิจการ จำนวน 1,103 แห่ง นายมูฮัมหมัด เมฆรอย เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะนม เล่าว่า เมื่อ 20 กว่าปีก่อนประกอบอาชีพทำการเกษตรปลูกผัก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันมาเลี้ยงแพะนม ก่อนเข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานพบปัญหามีปริมาณน้ำนมแพะเกินความต้องการของตลาด จึงสมัครเข้าร่วมโครงการในปี 2561 หลังจากนั้นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 4 ราชบุรี จัดส่งเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนะในการนำน้ำนมแพะที่เกินความต้องการไปแปรรูป เพื่อจำหน่ายต่อ ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ชีสนมแพะ เนยนมแพะ นมข้นหวานจากนมแพะ เป็นต้น ปริมาณนมแพะที่ได้แต่วันถูกนำไปจำหน่ายและแปรรูปทั้งหมด ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 15% ผู้ประกอบกิจการที่สนใจ อยากเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถติดต่อสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ในสังกัดของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั่วประเทศ หรือเว็ปไซต์ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หรือสายด่วน 1506 กด 4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ