SINGER ชูธุรกิจ “สินเชื่อรถทำเงิน” โตสวย เตรียมจัด EGM ระดมเงินขยายธุรกิจ 27 ก.พ. นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 25, 2019 15:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--IR PLUS SINGER ย้ำ ปี 61 ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว วางกลยุทธ์ปี 62 พร้อมโตอย่างมั่นคงแข็งแกร่ง หลังเห็นการบริหารจัดการภายในที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน อุดรูรั่วที่เป็นปัญหา ดันธุรกิจไฮไลท์ "สินเชื่อรถทำเงิน" ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ตั้งเป้าปีนี้มีพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินแตะ 2,500 ล้านบาท โตเท่าตัวจากปีก่อน ดันสัดส่วนพอร์ตรถทำเงินเป็น 60% ของพอร์ตรวม เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 27 กุมภาพันธ์นี้ บอร์ดฯ มีมติอนุมัติแผนเพิ่มทุน 432 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมและรองรับวอร์แรนต์ เพื่อเดินตามแผน และเก็บเกี่ยวผลงานทันที นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าซิงเกอร์ รวมถึงสินค้าเชิงพาณิชย์ต่างๆ ผ่านร้านค้าปลีกของบริษัทและผ่านทางตัวแทนจำหน่ายต่างๆ โดยบริษัทให้เช่าซื้อผ่านทาง บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด หรือ SGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถภายใต้ชื่อ "รถทำเงิน" และสินเชื่อเช่าซื้อเพื่อธุรกิจรายย่อย เปิดเผยถึง ผลประกอบการของบริษัทฯ งวดประจำปี 2561 มีรายได้รวม 2,888.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.20% จากปีก่อนอยู่ที่ 2,363.41 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 80.77 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 9.76 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเพิ่มขึ้น 727.8% โดยผลประกอบการในไตรมาส 4 ปี 2561 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากยอดขายสินค้าหลักเพิ่มขึ้น 39.2% เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการขายของพนักงานขายในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ที่ใช้ระบบ Application ในการยืนยันตัวตน เปลี่ยนแปลงวิธีการอนุมัติการขายเพื่อควบคุมคุณภาพลูกหนี้ ระบบการอนุมัติเครดิตจากศูนย์อนุมัติสินเชื่อส่วนกลางและการจัดเก็บเงินค่าผ่อนชำระสินค้าผ่านช่องทางอำนวยความสะดวกต่างๆ ควมคู่กับการดูแลของพนักงานขาย มีการนำสินค้าใหม่เข้ามาจำหน่าย และได้รับความนิยม อาทิ SmartTV Stereo และเครื่องซักผ้า 2 ถังรุ่นใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยรับไตรมาส 4 ปี 2561 อยู่ที่ 195.1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 อยู่ที่ 164.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 19% เนื่องจากการขยายธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้ไตรมาส 4 ปี 2561 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 17.9 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 0.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 6,903.5% ทั้งนี้อัตรากำไรขั้นต้น ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คิดเป็น 37.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ซึ่งคิดเป็น 32.4% เนื่องจาก เน้นเพิ่มยอดขายสินค้าหลักที่มีอัตรากำไรสูง ขณะที่ หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ (ไม่ได้หักหนี้สูญได้รับคืน) ในไตรมาส 4 ของปี 2561 อยู่ที่ 80.7 ล้านบาทลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 83.9 ล้านบาท ซึ่งเนื่องมาจากอัตราลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงจาก 12%ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 เป็น 10.48% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 รวมทั้ง การปรับปรุงการติดตามการชำระหนี้ "ภาพรวมทั้งปี 2561 เป็นอีกปีที่ SINGER ทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการภายในให้มั่นคง มีเสถียรภาพ อุดรูรั่วต่างๆ และพร้อมที่จะเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแกร่ง โดยรายได้ที่เติบโต เป็นผลมาจากยอดขายสินค้าหลัก ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อและเงินให้กู้ยืม รวมทั้ง รายได้อื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการที่ขาดทุน เป็นผลสืบเนื่องจากผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561 มีผลขาดทุนสุทธิ 184.5 ล้านบาท จากการตั้งสำรองของปีก่อนหน้า แต่บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการ เพื่อแก้ปัญหาบัญชีลูกหนี้ ควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน สินเชื่อรถทำเงินมีการเติบโตอย่างโดดเด่น จากการรุกตลาด และการอนุมัติที่เข้มงวด ส่งผลให้ผลงานไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 4 ปี 2561 ฟื้นเป็นกำไรอยู่ที่ 42.4 ล้านบาท , 43.4 ล้านบาท และ 17.9 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งหากมองผลงานในไตรมาสสุดท้ายยังไม่สะท้อนความสามารถในการทำกำไรที่แท้จริง จากผลกระทบการแก้ปัญหาบัญชีลูกหนี้ในส่วนที่พนักงานทุจริตให้ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ การตัดหนี้สูญ ตั้งสำรองสินค้าบางส่วนที่ยึดคืน ส่งผลให้ภาพรวมปี 2561 ขาดทุนลดลงจากไตรมาสแรกประมาณ 100 ล้านบาท และความพยายามการควบคุมคุณภาพหนี้ให้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับ NPL ลดลงอยู่ที่ประมาณ 10%" นายกิตติพงศ์กล่าว สำหรับภาพรวมธุรกิจของ SINGER ปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายจากธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณ 50% , สินเชื่อรถทำเงิน และ สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50% นับเป็นการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่โดดเด่นในธุรกิจสินเชื่อรถทำเงิน เนื่องจากพอร์ตการให้สินเชื่อมีการเติบโตสูง โดย ณ สิ้นปี 2561 มีพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินอยู่แล้วที่ราว 1,200 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2562 จะรุกสินเชื่อดังกล่าวให้เติบโตเท่าตัว หรือคาดสิ้นปี 2562 พอร์ตสินเชื่อรถทำเงินจะอยู่ที่ราว 2,500 ล้านบาท เพื่อสะท้อนแผนการเพิ่มทุนขยายธุรกิจ เป็นผลสำเร็จตามที่วางไว้ "สาเหตุที่เรามุ่งเน้นการเติบโตในสินเชื่อรถทำเงิน เพราะเป็นพอร์ตที่มีคุณภาพ ความเสี่ยงต่ำ ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ ทำให้ พอร์ตสินเชื่อรถทำเงินมี NPL อยู่ในระดับต่ำประมาณ 0.7% อีกทั้ง การแก้ปัญหาเก่าๆ จากต้นปี 2561 เรามองว่า SINGER ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วๆ และมั่นใจปี 2562 SINGER จะฉายภาพธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินให้โดดเด่นขึ้นได้ แผนการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะสนับสนุนให้ SINGER พร้อมรับโอกาสการเติบโต และคาดว่า สัดส่วนยอดขายจะมาจากธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประมาณ 30% , สินเชื่อรถทำเงิน และ สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 70%" นายกิตติพงศ์ กล่าว ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 ปี 2562 ในวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม อาคาร กสท โทรคมนาคม ชั้น 30 เพื่อพิจารณาและอนุมัติอนุมัติแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียน เพื่อขยายกิจการ เนื่องด้วยบริษัทฯ เห็นโอกาสการเติบโตของบริษัทและบริษัทย่อย นำเงินที่ได้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท และชำระคืนหนี้เงินกู้ยืม จำนวนเงินประมาณ 1,000 - 1,200 ล้านบาท ระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้เงินภายในไตรมาส 4/2562 รวมทั้ง เพื่อใช้รองรับการขยายธุรกิจ สินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกัน และสินเชื่อเพื่อสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้เงินประมาณปีละ 300 ล้านบาท ในระหว่างปี 2562-2564 และ เพื่อใช้รองรับการขยายธุรกิจสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้เงินประมาณปีละ 1,200 ล้านบาท ในระหว่างปี 2562-2564 สำหรับแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนในครั้งนี้ จำนวนไม่เกิน 432 ล้านบาท ออกหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 432 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ (พาร์) 1.00 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 270 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 702 ล้านบาท พร้อมกับให้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์)SINGER-W1 และ SINGER-W2 การใช้สิทธิครั้งที่ 1 หรือ SINGER-W1 อายุ 2 ปี จำนวน 108 ล้านหน่วย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของบริษัท และได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Issue) และจองเกินจากสิทธิ (Excess Rights) ในอัตราส่วน 2 หุ้นที่ได้รับจัดสรรต่อ 1 หน่วยวอร์แรนต์ กำหนดอัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญ ที่ราคาใช้สิทธิจะเท่ากับราคาซื้อขายถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นสามัญของบริษัทย้อนหลัง 15 วันทำการติดต่อกัน ก่อนวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 บวกส่วนเพิ่มร้อยละ 20 การใช้สิทธิครั้งที่ 2 หรือ SINGER-W2 อายุ 4 ปี จำนวน 108 ล้านหน่วย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของบริษัท และได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Issue) และจองเกินจากสิทธิ (Excess Rights) ในอัตราส่วน 2 หุ้นที่ได้รับจัดสรรต่อ 1 หน่วยวอร์แรนต์ กำหนดราคาใช้สิทธิ 14 บาท โดย SINGER มีมติอนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ รวมจำนวนไม่เกิน 216 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 4 หุ้นสามัญเพิ่มทุน และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 216 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท
แท็ก ก.พ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ