ครม. ไฟเขียวให้ วธ. เสนอ “โนรา” ขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก เข้าสู่รอบพิจารณาปี ๖๓ ต่อจากนวดไทย เผยคณะโนราอาชีพในไทยมี ๓๘๗ คณะ พบสืบทอดจากโนรา ๕ สายตระกูลหลักในพื้นที่ภาคใต้

ข่าวทั่วไป Tuesday March 12, 2019 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเอกสารนำเสนอ "โนรา"ภายใต้ชื่อ Nora, Dance Drama in Southern Thailand ขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก และ ครม.เห็นชอบให้ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นผู้ลงนามในเอกสารนำเสนอโนราในฐานะตัวแทนประเทศไทย เพื่อขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ฯ เนื่องจากตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กำหนดให้รัฐภาคีนำเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ภายในเดือนมีนาคมทุกปีและจะใช้เวลาพิจารณารายการอย่างน้อย ๑ ปีและ ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ โดยปี ๒๕๖๒ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลกำหนดประชุมสมัชชาสมัยสามัญครั้งที่ ๑๔ วันที่ ๙ – ๑๔ ธ.ค. ๒๕๖๒ ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลัมเบีย ทั้งนี้ ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๒๕๕๙ โดย "โขน"เป็นรายการแรกของไทยที่ได้รับการประกาศให้ขึ้นบัญชีเมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย.๒๕๖๑ ส่วน "นวดไทย" อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อขึ้นบัญชีภายในปี ๒๕๖๒ ส่วน "โนรา"จะเข้าสู่การพิจารณาขึ้นบัญชีในรอบปี ๒๕๖๓ สำหรับเหตุผลที่นำเสนอ โนรา เนื่องจากเป็นศิลปะการแสดงการร่ายรำที่มีชีวิตงดงาม ขับร้องโดยใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ พร้อมกับดนตรีประกอบจังหวะที่เร้าใจ และเครื่องแต่งกายที่วิจิตรประณีต มีรากสืบทอดมาจากความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนในภาคใต้ ซึ่งผู้สืบเชื้อสายโนราจะรวมตัวกันเพื่อบวงสรวง เซ่นไหว้ครูหมอโนราหรือบรรพบุรุษ และเพื่อขจัดปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย พิธีกรรมโนรานั้นเป็นการเชื่อมต่อชุมชนกับบรรพบุรุษ และสืบทอดโนรารุ่นใหม่รวมถึงรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบุคคลและชุมชนและช่วยอำนวยอวยพรให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี ปัจจุบันพบว่าโนรามีการสืบทอดศิลปะการแสดงจากรุ่นสู่รุ่นผ่านสายตระกูลโนรา ชุมชน วัดและพัฒนาเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาระดับต่างๆ จากข้อมูลของนักวิชาการพบว่า มีสายตระกูลหลัก ๕ สายที่สืบทอดโนราในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ๑. สายโนราพุ่มเทวา ๒.สายโนราแปลก ท่าแค ๓. สายโนราแป้น เครื่องงาม ๔.สายโนราเติม-วิน-วาด และ ๕. สายโนรายก ทะเลน้อย โดยสายตระกูลโนราทั้ง ๕ สายสืบทอดความรู้และทักษะมาจาก ๑๒ สายตระกูลในอดีต และจากการสำรวจพบว่า คณะโนราอาชีพในประเทศไทยมี ๓๘๗ คณะ โดย ๒๗๘ คณะหรือประมาณ ๗๐% อยู่ใน ๔ จังหวัดบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางขนบประเพณีโนรา นอกจากนั้นยังมีกลุ่มคณะนักแสดงสมัครเล่นและคณะเยาวชนโนรากระจายอยู่ทั่วไปตามสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดทางภาคใต้ สำหรับคุณสมบัติของโนรา ได้ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโกในข้อต่างๆ อาทิ ข้อที่ ๑.สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตามที่นิยามไว้ในมาตรา ๒ อนุสัญญาฯ เนื่องจากโนราเป็น การแสดงออกทางมุขปาฐะ ศิลปะการแสดง การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม โดยเป็นศิลปะการแสดงที่ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าฝึกทักษะการแสดงได้ โดยมีการไหว้ครูเป็นขนบจารีตที่สำคัญ ข้อที่ ๒ การขึ้นบัญชีเรื่องที่นำเสนอเป็นคุณประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลกทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ รับรู้ถึงความมีอยู่ของโนราท่ามกลางมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ซึ่งมีความหลากหลายและร่วมชื่นชมในภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ได้ปฏิบัติและแสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน และช่วยให้ผู้คนในภูมิภาคต่างๆได้เข้ามาใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงและแตกต่างระหว่างกันมากขึ้น เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ