เด็กอูรักลาโว้ย รวมพลค้นความลับ “ดวงจันทร์กับน้ำทะเล”

ข่าวทั่วไป Tuesday January 29, 2008 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--สกว.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
“บ้านหนูน้ำทะเลขึ้นลงวันละ 2 ครั้ง ยายบอกว่าดูได้จากดวงจันทร์ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไม” เสียงใสๆของ “น้องแย้ม” หรือ ด.ญ. นิตยา หาญทะเล สาวชาวเลอูรักลาโว้ย ที่บอกเล่าถึงความสงสัยในความลับของดวงจันทร์กับน้ำทะเล ก่อนจะร่วมภารกิจออกค้นหาคำตอบกับเพื่อนๆกว่า 30 ชีวิตในกิจกรรม “ดาราศาสตร์กับชาวเล” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ณ เกาะสีชัง เมื่อวันที่ 23-25 มกราคม ที่ผ่านมา
นอ. ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)กล่าวว่า กิจกรรมดาราศาสตร์กับชาวเลครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกมีการพาเยาวชนอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ไปศึกษาเรื่องปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงในพื้นที่เกาะตะรุเตา ขณะที่ปี้นี้มีการจัดขึ้นที่บริเวณเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนชาวเลอูรักลาโว้ยได้มีโอกาสเรียนรู้และทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์นอกสถานที่ร่วมกับนักเรียนในภูมิภาคอื่นๆ โดยภายในกิจกรรมเด็กๆจะต้องค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งของดวงจันทร์บนท้องฟ้ากับความสูงของระดับน้ำทะเลด้วยตนเอง โดยการแบ่งกลุ่มรับผิดชอบตรวจวัดระดับน้ำทะเลทุกๆ 1 ชั่วโมง ควบคู่กับการวัดมุมเงยของดวงจันทร์ และจดบันทึกข้อมูลเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 30ชั่วโมง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาสร้างกราฟ ร่วมกันวิเคราะห์ และอธิบายถึงปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง นอกจากนี้เด็กๆยังได้สนุกกับการรู้จักกลุ่มเมฆชนิดต่างๆที่ปกคลุมบนท้องฟ้า พร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์รอบเกาะสีชังอีกด้วย
ด.ญ. นิตยา หาญทะเล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 2 จากโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง จังหวัดสตูล เล่าว่า เห็นน้ำทะเลขึ้นลงทุกวัน เพราะต้องคอยออกไปเก็บหอยและปลิงทรายเวลาน้ำลง แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเพราะอะไร จนเมื่อได้เข้ามาติดตามวัดน้ำทะเลกับดวงจันทร์ทำให้รู้ว่าแรงดึงดูดของดวงจันทร์คือปัจจัยที่ทำให้น้ำทะเลขึ้นลง
“ หลังจากช่วยกันนำข้อมูลระดับน้ำทะเลและมุมของดวงจันทร์ที่เพื่อนๆช่วยกันวัดมาวาดลงบนกระดาษกราฟ พบว่า เมื่อดวงจันทร์ลอยสูงขึ้น น้ำทะเลจะเริ่มสูงขึ้น และเมื่อดวงจันทร์คล้อยต่ำลง ระดับน้ำทะเลจะค่อยๆลดลงด้วย โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าโลกของเราแม้จะมีเปลือกโลกเป็นของแข็ง แต่พื้นผิวส่วนใหญ่ของโลกปกคลุมด้วยน้ำทะเลซึ่งเป็นของเหลว ดังนั้นเมื่อด้านที่โลกหันหน้าเขาหาดวงจันทร์จะเกิดแรงดึงดูดกัน ทำให้น้ำบริเวณนั้นถูกดวงจันทร์ดูด น้ำทะเลจึงโป่งออกหรือมีระดับน้ำสูงขึ้น ขณะเดียวกันโลกก็ถูกดวงจันทร์ดึงดูดด้วยทำให้เคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงจันทร์มากขึ้น น้ำบริเวณที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับดวงจันทร์จึงโป่งออกหรือมีระดับสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้หากสังเกตที่เส้นกราฟระดับน้ำทะเลในวันที่ 26 มกราคม จะพบว่าบริเวณเกาะสีชังมีการขึ้นลงจำนวน 2 ครั้งต่อวัน โดยขึ้นสูงสุดที่เวลา 09.00 น. : 290 เซนติเมตร และ ช่วงเวลา 18.00 น. ระดับน้ำ 210 เซนติเมตร ส่วนน้ำลงต่ำสุดที่เวลา 14.00น. :160 เซนติเมตร และช่วงเวลา 23.00 น. : 95 เซนติเมตร สาเหตุที่ภายในหนึ่งวันมีน้ำขึ้นน้ำลง 2 ครั้งก็เพราะว่าโลกจะหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ คือ 1 วัน ดังนั้นจุดที่เรายืนจึงมีโอกาสเคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่เกิดน้ำขึ้น และน้ำลง ทั้งสองด้าน จึงทำให้เกิดน้ำขึ้น — น้ำลง วันละ 2 ครั้ง ซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าทะเลกับดวงจันทร์จะเกี่ยวข้องกันได้ ”
ผลการเก็บข้อมูลไม่เพียงทำให้รู้ถึงอิทธิพลดวงจันทร์ต่อระดับน้ำทะเลแล้ว “ น้องหอม” หรือ ด.ญ. เมราณีย์ หาญทะเล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 2 จากโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง จังหวัดสตูล ยังสามารถคาดเดาถึงวันที่มีระดับน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละเดือนได้ด้วย
“ น้ำทะเลขึ้นสูงได้เพราะแรงดึงดูดของดวงจันทร์ ดังนั้นในคืนเราเห็นดวงจันทร์ชัดที่สุด หรือวันพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ คือ วันที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ จะเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน จึงทำให้เกิดแรงดึงดูดมาก จะทำให้น้ำทะเลขึ้นสูงมากและต่ำลงมาก หรือที่เรียกว่า “น้ำเป็น” แต่ในคืนที่เห็นดวงจันทร์ครึ่งดวง ขึ้น 8 ค่ำ และ แรม 8 ค่ำ เพราะโลก และดวงจันทร์ อยู่ในแนวตั้งฉากกัน แรงดึงดูดจะน้อยทำให้ระดับน้ำไม่ขึ้นลง เท่ากันหมดเราเรียกว่า “น้ำตาย” ซึ่งทำให้รู้ความลับของผู้แก่ ผู้เฒ่า แล้วว่ารู้ได้อย่างไรว่าคืนไหนน้ำจะลงและขึ้นมากที่สุด”
ด้าน ด.ช. ประวัติ หาญทะเล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 2 จากโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง จังหวัดสตูล เล่าว่า การเข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงทำให้ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยใช้มาก่อนแล้ว ยังได้ออกมาเรียนรู้นอกสถานที่ทำให้ได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่และได้เพื่อนใหม่กลับไปด้วย
“ มาที่นี่สนุกมากและแปลกใจมากครับ ก่อนมาคิดว่าเกาะสีชังก็คงเหมือนเกาะหลีเป๊ะ มีน้ำทะเลใสๆ หาดทรายสีขาว และมีปะการัง แต่พอมาก็พบว่าน้ำทะเลสีไม่เหมือนกัน และเพื่อนๆบอกว่าที่นี่มีปะการังน้อย ที่มีก็ตายแล้ว ก็แปลกใจมาก ต้นไม้ก็มีน้อยไม่เหมือนที่บ้าน จึงทำให้รู้สึกรักทะเลที่บ้านมาก เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงมีนักท่องเที่ยวมาที่บ้านเราเยอะ และเข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่อุทยานจึงอยากให้เราดูแลปะการังที่บ้านดีๆ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เห็นสถานที่ต่างๆ รวมถึงรู้จักพระราชประวัติของรัชกาลที่ 5 มากขึ้นด้วย ทำให้ผมรู้สึกสนุกและอยากจะเรียนให้มีความรู้เพิ่มมากขึ้น ”
นาย ทวีศักดิ์ จุลจรูญ อาจารย์ โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง จังหวัดสตูล กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์ต่อเด็กๆอูรักลาโว้ยมาก เพราะเด็กกลุ่มนี้ขาดโอกาสได้เห็นเฉพาะแต่ในบริบทที่ตัวเองอยู่ ความคิดและการมองเห็นสิ่งรอบตัวจะต่างกับเด็กทั่วไป เด็กส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานเช่น เป็นเด็กเสิร์ฟ ขับเรือให้นักท่องเที่ยว มากกว่าการเรียนเพราะคิดว่าสร้างรายได้ที่มากพอ จึงมองว่าการเรียนไม่สำคัญและไม่เกิดประโยชน์ การได้ออกมาเรียนรู้โลกภายนอกถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆได้มาเห็นเพื่อนที่มีการเรียนอย่างจริงจังเพื่อสร้างอาชีพ ซึ่งนับเป็นตัวอย่างดีๆที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอูรักลาโว้ยมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะสังคมภายนอกเปลี่ยนไปมาก การมีชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาธรรมชาติอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ครูจึงหวังอยากให้เด็กๆมีความรู้เพื่อมีอาชีพที่ดี ซึ่งจะช่วยให้เขามีความเข้มแข็งมากพอที่จะต่อสู้กับโลกภายนอกได้
นอ. ฐากูร เกิดแก้ว กล่าวว่า แนวคิดหลักการจัดกิจกรรมครั้งนี้คือการสอดแทรกความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เข้าไปในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวเล อาทิปรากฏการน้ำขึ้น น้ำลง การดูเมฆชนิดต่างๆที่ทำให้เกิดฝน ความรู้ที่เด็กได้จะเข้าไปเสริมความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เด็กมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยังเป็นการฝึกให้เด็กคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เชื่อในสิ่งต่างๆอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น อีกทั้งยังนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย อย่างไรก็ดีแม้เด็กอูรักลาโว้ยจะถูกปิดกั้นจากสังคมภายนอกด้วยน้ำทะเลที่โอบล้อม แต่ก็เชื่อว่าท้องฟ้าและน้ำทะเลสีครามยังคงมีเรื่องราวให้เด็กได้เรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ขอข้อมูลเพิ่มเติมและภาพประกอบได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร 02-2701350-4 ต่อ 103

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ