รพ.จิตเวชโคราช จัดค่ายสร้างสุขเยาวชน ใช้ “สติ ติดดิสเบรกสมอง” ห่างจอ ห่างเกม ช่วงปิดเทอมใหญ่

ข่าวทั่วไป Monday April 1, 2019 10:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยช่วงปิดเทอมใหญ่เด็กเยาวชนเสี่ยงติดเกมง่าย จัดกิจกรรมสร้างสรรค์เบนเข็มพาเด็กและเยาวชนเข้าวัดฝึกสร้างสติ ทำจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์สังคม ชี้จะให้ผลโดยตรงต่อการพัฒนาสมองส่วนหน้าของเด็ก จะเป็นคันเบรกให้ห่างจอ ห่างเกม อบายมุข ป้องกันโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตายในอนาคต พร้อมใช้เป็นต้นแบบพัฒนาเด็กเยาวชน 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ข้อมูลล่าสุดในปี 2559 พบเด็กไทยจมอยู่กับอินเตอร์เน็ตวันละ 6 ชั่วโมง ร้อยละ 85 ใช้เพื่อเล่นเกม และ 1ใน 10 เล่นจนติดขั้นรุนแรง หยุดเล่นไม่ได้ ที่วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดโครงการ "ค่ายสร้างสุขอย่างสร้างสรรค์วันปิดเทอม" เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนและเยาวชน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ โดยการจัดกิจกรรมเข้าวัดเพื่อให้เรียนรู้การฝึกสติ (Mindfulness) จากพระสงฆ์ที่วัดป่าศรัทธารวม การเป็นจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ เป็นจิตอาสาด้วยหัวใจ รวมทั้งเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักเพื่อนใหม่เป็นการสร้างอีคิวในการอยู่ร่วมในสังคม สามารถนำความรู้ทักษะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการเรียนได้ โดยมีนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม 50 คน นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า วัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิต เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย ฮอร์โมน อารมณ์และจิตใจ อาจถูกชักจูงไปในทางที่ผิดและเกิดการเสพติดง่าย ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือปัญหาการติดเกม จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2559 พบว่าเยาวชนไทยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง ร้อยละ 85 ใช้เพื่อเล่นเกม ดาวน์โหลดเกมมาเล่น ซึ่งมากกว่าการใช้เพื่อค้นหาข้อมูลทางการศึกษาเกือบ 3 เท่าตัว ในช่วงปิดเทอมยิ่งน่าห่วง เป็นช่วงที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กและเยาวชน ติดเกม ติดจอมากและง่ายขึ้น เนื่องจากเด็กมีเวลาว่างจากการเรียน "จากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าเด็กเยาวชนไทยติดเกมมากเป็นอันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย โดยใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์ทางมือถือและอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 3.2 ชั่วโมง ในจำนวนนี้ 1 ใน 10-15 เสพติดเกมออนไลน์ขั้นรุนแรง ไม่สามารถหยุดเล่นได้ การที่เด็กใช้เวลาจมอยู่ที่หน้าจอ จะทำให้เด็กขาดสัมพันธภาพกับคนในครอบครัว เพื่อน ขาดทักษะการใช้ชีวิตในสังคมจริงอย่างมาก มีอารมณ์รุนแรงและหุนหันพลันแล่น แก้ปัญหาในชีวิตจริงไม่ได้และไม่เป็น ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้สูงกว่าคนทั่วไป" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรมค่ายสร้างสุขครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาคุณค่าภายในของเด็กและเยาวชนคือสมอง จิตใจ อารมณ์ โดยใช้สติเป็นเครื่องมือ ผลการศึกษาทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า การฝึกสติจะทำให้สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ การตัดสินใจอย่าง มีเหตุผลทำงานได้ดีขึ้น เปรียบเสมือนเป็นคันเบรกการกระทำหรืออารมณ์ที่ไม่ดีในชีวิต ซึ่งในช่วงของวัยรุ่นนั้นสมองส่วนที่พัฒนาเต็มที่ในวัยนี้ก็คือส่วนที่แสดงอารมณ์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคันเร่งความอยาก ความต้องการตามสัญชาตญาณพื้นฐาน เช่นการกิน การต่อสู้ ซึ่งจะเจริญเติบโตเต็มที่ในช่วงอายุ 13 ปี ในขณะที่สมองส่วนหน้าจะพัฒนาเต็มที่ในช่วงอายุประมาณ 25 ปี จึงเป็นเหตุเป็นผลทำให้วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น เสี่ยงเสพติดเกม หรือยาเสพติดได้ง่ายและเลิกยากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อสมองส่วนหน้าของวัยรุ่นได้รับการพัฒนา จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งความคิดและการกระทำ การฝึกสติจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะพัฒนาเยาวชนไทยในยุค 4.0 ให้มีคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการตามแนวทางของกรมสุขภาพจิตคือ มีสติปัญญาดี (IQ) มีความคิดสร้างสรรค์ (Creation) คิดบวก (Positive) และมีจิตสำนึกเพื่อสังคม (Response to Society) ซึ่งจะป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตายในอนาคตได้ด้วย ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะติดตามผลหลังจากนี้อีก 3 เดือน เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเรียน พฤติกรรมการใช้มือถือหรืออินเตอร์เน็ต การดำเนินชีวิต และการช่วยเหลืองานบ้าน ช่วยผู้ปกครอง ใช้เป็นต้นแบบขยายผลดำเนินการพัฒนาเยาวชนในเขตสุขภาพที่ 9 คือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ในช่วงปิดเทอมเล็กต่อไป สำหรับเกมนั้นมีทั้งผลบวกและผลลบ เวลาเล่นเกมที่เหมาะสมไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง หลักการสังเกตพฤติกรรมของเด็กที่เสี่ยงต่อการติดเกม มีดังนี้ 1.เด็กมีพฤติกรรมแสวงหาการเล่นอย่างมาก 2.ต้องเพิ่มเวลาเล่น 3. เด็กมีอาการขาดการเล่นเกมไม่ได้ จะมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว 4. เด็กสูญเสียหน้าที่ เสียการเรียน หากพบลูกหลานมีพฤติกรรมที่กล่าวมา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือปรึกษาที่เฟซบุ๊ค รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ