เกษตรฯ แนะเพิ่มพท.กักน้ำจืด เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน รุกสวนกล้วยไม้

ข่าวทั่วไป Tuesday May 7, 2019 15:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาฤดูกาลต่าง ๆ เริ่มแปรปรวน โดยในช่วงฤดูฝน ฝนจะตกมากขึ้น แต่บางครั้งฝนก็มาเร็วหรือล่าช้า กว่าปกติ ไม่ตกในเดือน เม.ย.-พ.ค. เช่นเคย และในฤดูร้อนอากาศก็จะร้อนมากขึ้นและแห้งแล้งยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาชาวสวนกล้วยไม้โดยเฉพาะ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาตามแม่น้ำท่าจีน ซึ่งค่าความเค็มที่สูงเกินกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร หรือค่าการนำไฟฟ้า (EC) สูงเกินกว่า 750 ไมโครซีเมนส์ ต่อเซนติเมตร เป็นเวลานานจะส่งผลให้รากกล้วยไม้เริ่มไหม้ ใบมีสีเหลืองและเริ่มเหี่ยว เนื้อเยื่อแห้ง ไม่เจริญเติบโต และอาจรุนแรงทำให้กล้วยไม้ตายได้ในที่สุด ปี 2562 ช่วงต้น ม.ค. มีน้ำเค็มรุกเข้าสวนเป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วกลับคืนสู่สภาพปกติ ล่าสุดยังไม่พบผลกระทบต่อสวนกล้วยไม้ แต่จากรายงานสถานการณ์ของกรมชลประทาน (30 เม.ย.62) เริ่มพบค่าความเค็มขยับสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ ที่ประสบปัญหาฝนแล้ง - น้ำทะเลหนุนปะปนในแหล่งน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ หมั่นตรวจวัดค่าการนำไฟฟ้า ของน้ำที่จะใช้รดกล้วยไม้หรือนำมาผสมปุ๋ย และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยใช้เครื่องวัด EC หรือ Salinity ตรวจวัดเอง หรือส่งน้ำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานราชการ หากพบว่าแหล่งน้ำที่นำมารดกล้วยไม้ยังมีคุณภาพดี ให้สูบน้ำเข้ามาเก็บกักในบ่อพักให้เต็ม เพื่อสำรองไว้กรณีเกิดน้ำทะเลหนุน และควรรักษาระดับน้ำในบ่อพักน้ำในสวนกล้วยไม้ให้สูงกว่าระดับน้ำข้างนอก เพื่อดันไม่ให้น้ำจากข้างนอก ที่อาจเป็นน้ำเค็มไหลซึมเข้ามา นอกจากนี้ ควรเพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักน้ำ เช่น ขุดบ่อเพิ่ม หรือ เพิ่มความลึกของบ่อเดิม เพื่อให้เก็บกักได้มากขึ้น ประกอบกับปรับเปลี่ยนวิธีการให้น้ำอย่างประหยัด ด้วยหัวสปริงเกอร์แบบประหยัดน้ำที่มีอัตราการใช้น้ำ 100-120 ลิตร ต่อ 1 หัว ในเวลา 1 ชั่วโมง นายสำราญ กล่าวเพิ่มเติมกรณีพบน้ำมีค่าความเค็มสูงขึ้นว่า ควรลดอัตราการผสมปุ๋ยลงจากเดิม เนื่องจากปุ๋ยเป็นเกลือชนิดหนึ่งซึ่งจะเพิ่มความเค็มของน้ำ หากน้ำที่ผสมปุ๋ยแล้วมีค่าความเค็มสูงเกินไป ปุ๋ยจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่รากหรือต้นกล้วยไม้ และควรเพิ่มปุ๋ยที่มีธาตุอาหารรองประเภทแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งสามารถลดความเป็นพิษของเกลือโซเดียมและคลอไรด์ในน้ำทะเลได้ในระดับหนึ่ง และปรับความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำให้อยู่ในช่วง pH 5.5 – 6.5 จะทำให้เกลือไบคาร์บอเนตในน้ำทะเลลดลงและ ทำให้ธาตุอาหารต่าง ๆ ละลายออกมาในรูปที่เป็นประโยชน์กับกล้วยไม้มากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ