รัฐมนตรีเกษตรฯ เผยแนวโน้มราคาไข่ไก่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากมาตรการปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด

ข่าวทั่วไป Thursday June 6, 2019 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ว่า สืบเนื่องจากปริมาณแม่ไก่ไข่ในประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้นเกินความต้องการบริโภคไข่ไก่ ส่งผลให้ราคา ไข่ไก่ตกต่ำลง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบปัญหาขาดทุน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น เพื่อปรับสมดุลอุปสงค์ อุปทานไข่ไก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้เร่งดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ด้วยการปรับสมดุลการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคในประเทศ ลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทยจากปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่สามารถขายไข่ไก่ได้ในราคาที่น่าพึงพอใจ และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยได้ปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด ด้วยการขอความร่วมมือภาคเอกชนผู้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ และเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ขนาด 2 แสนตัวขึ้นไป ปรับลด กำลังการผลิตโดยนำผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และปรับลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงทั้งอุตสาหกรรม ให้อยู่ประมาณ 50 ล้านตัว ซึ่งจะมีการผลิตไข่ไก่ประมาณ 80% หรือประมาณ 40 ล้านฟอง/วัน รวมทั้งการปรับแผน การนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2562 เพื่อรักษาสมดุลราคาไข่ไก่ในปัจจุบัน จึงทำให้ราคา ไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันราคาไข่ไก่อยู่ที่ประมาณ 3 บาท/ฟอง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง "การแก้ปัญหาราคาไข่ไก่อย่างจริงจังเริ่มตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายใหญ่และเกษตรกรผู้เลี้ยง ในการให้ความร่วมมือตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด ทำให้ราคาไข่ไก่ขยับขึ้นใกล้เคียงต้นทุนการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถต่อยอดอาชีพต่อไป หลังจากนี้จะยังคงสานต่อมาตรการเพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ จากมาตรการส่งออกไข่ไก่ที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในขณะนี้เป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดภาคเรียน ราคาไข่ไก่น่าจะดีขึ้นตามลำดับจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และในระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2566) เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์เดิม และเพิ่มเติมเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการบริโภค การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการบริหารจัดการปริมาณการเลี้ยงที่เหมาะสม ตลอดจนการจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยกับผู้ซื้อโดยตรง และการสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรที่ปฏิบัติตามมาตรการแก้ปัญหาอีกด้วย" นายกฤษฎา กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ