กลุ่มคนรุ่นใหม่รวมตัวชวนคนไทยรักทะเล เนื่องในวันทะเลโลก (World Oceans Day) จัดกิจกรรมแปลกสุดชิคว่ายน้ำท่ามกลาง “ขวดพลาสติก” เสียดสีสังคมสะท้อนปัญหาขยะล้นทะเล ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข

ข่าวทั่วไป Monday June 10, 2019 13:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ผศ.นพ.มล.ทยา กิติยากร หัวหน้าโครงการว่ายน้ำท่ามกลางขวดพลาสติก ในวาระกิจกรรมวันทะเลโลก (World Oceans Day) 2019 เปิดเผยว่า เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการระลึกถึงความพยายามในการลดขยะในทะเลที่ปัจจุบันกำลังเพิ่มขึ้นจนเป็นปัญหาสำคัญทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องในโอกาสวันทะเลโลกในวันที่ 8 มิถุนายน นี้ สมาคมนักเรียนเก่ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จึงร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) รุ่นที่ 1, 2 และ 3 สถาบันพระปกเกล้า, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ และ เทใจดอทคอม (taejai.com) ได้จัดกิจกรรมสร้างความท้าทายในการว่ายน้ำเพื่อลดขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งจะมีขึ้นเวลา 14.30 - 17.30 น. วันที่ 8 มิ.ย. 62 ที่บริเวณสระว่ายน้ำโรงเรียนบางกอกเพรพ (Bangkok Prep School) ซอยสุขุมวิท 53 กรุงเทพฯ ผศ.นพ.มล.ทยา กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของกิจกรรมครั้งนี้ก็เพื่อการสร้างความตื่นตัวในเรื่องมลพิษที่มาจากพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเลซึ่งเป็นภยันตรายต่อสัตว์น้ำ การให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความตระหนักอย่างลึกซึ้งด้วยประสบการณ์ส่วนตัวจากการทำกิจกรรม ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมสามารถแชร์ภาพถ่ายและข้อมูลความรู้ได้โดยทางโซเชียลมีเดีย อีกทั้งวัตถุประสงค์ในการจัดงานก็เพื่อระดมทุนช่วยเหลือสัตว์ทะเลได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในบ่ายวันดังกล่าวจะมีกิจกรรมสนุกสนานมากมาย อาทิ การว่ายน้ำท่ามกลางขวดพลาสติก (ทำความสะอาดแล้ว) เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็น ถึงปัญหาขยะพลาสติกในท้องทะเล การแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ การถ่ายภาพใต้น้ำที่เต็มไปด้วยขยะ และความเพลิดเพลินอีกหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มความตระหนักต่อภยันตรายจากขยะพลาสติกที่เกิดต่อสัตว์น้ำ โดยรายได้จากกิจกรรมจะมอบให้กับ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "กิจกรรมและความสนุกทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นในสระว่ายน้ำซึ่งเต็มไปด้วยขวดพลาสติก ที่เราทำความสะอาดแล้ว เราจัดเตรียมไว้เพื่อจำลองบรรยากาศทะเลที่สัตว์น้ำต้องเผชิญหากพวกเราไม่เร่งจัดการปัญหาขยะล้นทะเล หากไม่ตื่นตัวกันตอนนี้รับรองว่าในอนาคตขยะพลาสติกจะต้องเต็มทะเลแน่นอน หากคุณลองลงไปว่ายน้ำท่ามกลางขยะพลาสติก ก็จะรับรู้ความรู้สึกของสัตว์น้ำว่าพวกเขารู้สึกลำบากอย่างไรบ้าง" ผศ.นพ.มล.ทยา กล่าวและทิ้งท้ายว่า ผู้สนใจร่วมกิจกรรมหรือบริจาคสามารถติดต่อลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เทใจ.คอม" (taejai.com) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ นับเป็นความหวังของผู้จัดงานที่จะมีผู้ร่วมกิจกรรมมากมายมาร่วมสนุกสนานพร้อมทำความดีในการรณรงค์ลดขยะพลาสติก เพื่อสร้างชุมชนทะเลน้ำใสและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีเพื่อสัตว์น้ำและคนในรุ่นต่อไป รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์สัตว์น้ำในท้องทะเลไทยว่า ถือเป็นปีที่ดีของสัตว์น้ำในทะเลไทย หลายชนิดเพราะมีอัตราการเกิดและรอดชีวิตมากขึ้น อาทิ เต่ามะเฟือง และพยูน แต่ขณะเดียวกันสัตว์หลายขนิดที่ประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศให้มีกฎหมายคุ้มครองเพื่อการอนุรักษ์ เช่น ปลาโรนิน กระเบนนก กลับมีตัวเลขที่ลดลงจนน่าเป็นห่วง ซึ่งจุดนี้หากมีการปรับปรุงกฎหมายน่าจะเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้สิ่งที่ห่วงสำหรับสิ่งแวดล้อมทางทะเล คือการลักลอบปล่อยมลพิษลงน้ำของระบบอุตสาหกรรม เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทะเลและสัตว์ จึงอยากให้ผู้ดูแลเข้มงวด และอยากให้ประชาชนทุกคนร่วมเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ด้วย สุดท้ายที่คิดว่าพวกเราควรทบทวน คือ โครงการเพื่อการอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น บางโครงการอาจจะต้องคิดให้ละเอียดมากขึ้นและทำใหม่ เช่น การใช้ท่อพีวีซีเพื่อปลูกปะการังใต้น้ำ เพราะมีผลวิจัยออกมาแล้วว่าท่อพีวีซีก่อให้เกิดไมโครพลาสติก เราควรจะต้องกลับมาพิจารณาว่าโครงการลักษณะนี้ควรยกเลิกและทำการเก็บกู้ปะการังเทียมที่เคยทำมาหรือไม่ ด้านนายวรวัฒน์ สภาวสุ หนึ่งในอาสาสมัครของโครงการกล่าวว่า เมื่อปี 2018 (พ.ศ.2561) ได้ไปดำน้ำที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย สิ่งที่เห็นคือขยะพลาสติกมันเยอะกว่าปลาแล้วที่นั่น สิ่งที่นักวิชาการหลายคนบอกว่าภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) จะมีพลาสติกมากกว่าปลา ตนได้ไปสัมผัสมาแล้วกับตัวเอง พอทราบเรื่องนี้ก็รู้สึกว่าจะต้องทำอะไรซักอย่างแล้ว แต่ปัญหามันใหญ่เกินก่อนหน้านี้ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร กระทั่งในวันที่พี่ตูน บอดี้สแลม (นายอทิวราห์ คงมาลัย) วิ่งขึ้นไปเหนือสุดของประเทศตนก็ลุกขึ้นมาวิ่งโดยไม่มีจุดหมาย จนมาเจออุโมงค์ยักษ์ ตรงชุมชนบึงพระราม 9 ซึ่งมีขยะพลาสติกวนเวียนอยู่เยอะมากที่ปากทาง ผมลองกดแชร์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของตัวเองแล้วมันมีคนแชร์กันเยอะมากไปถึง 2 แสนกว่าวิว "วันนั้นผมมีความรู้สึกว่าทุกคนมีพลังและสามารถแก้ปัญหาได้ เลยร่วมมือทุกองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ และได้ไปพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยากับอาจารย์ปริญญา (ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล) จนล่าสุดไปช่วยโครงการเก็บรักษ์กับคุณโตโน่ (นายภาคิน คำวิลัยศักดิ์) ที่ลพบุรีด้วย ทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ขอให้มีความตั้งใจจริงและลงมือทำ" นายวรวัฒน์ กล่าว นายวรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันขวดน้ำพลาสติกทั่วโลกผลิตกันนาทีละล้านขวดและรีไซเคิ้ลได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ตกหล่นลงไปในทะเล ชายหาดบ้านเราก็มีจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี หลอดพลาสติก กล่องโฟม กล่องนม ก้านไม้ปั่นหู ดอกพุดปลอม ไฟแช็ค และบรรจุภัณฑ์ต่างๆมากมายที่เราฉีกใช้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งไว้เป็นภาระให้กับท้องทะเล ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน ประชาชน ต้องช่วยกันหยุดใช้ หยุดสร้างขยะพลาสติกครั้งเดียวทิ้งทั้งหลายโดยเร็วที่สุด
แท็ก พลาสติก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ