อัพเดทสภาวะการณ์ตลาดไอทีเซอร์วิสประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 24, 2019 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--ไอดีซี ตลาดไอทีเซอร์วิส (IT Services) ของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 นั้นมีมูลค่าสูง 47 พันล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตที่ 9.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมของทั้งปี 2561 นั้นอยู่ที่ 92 พันล้านบาท โดยที่ประเทศไทยนั้นมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีเซอร์วิส ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้มีการใช้จ่ายด้านไอทีเซอร์วิสในประเทศนั้นมีหลายปัจจัย ครอบคลุมในแทบทุกอุตสาหกรรม อาทิเช่น การมีบริการใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อคเชน (blockchain) หรือคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrencies) ในภาคธุรกิจการเงิน การลงทุนและการพัฒนาด้านไอโอที โรโบติกส์ ออโตเมชัน และ โลเคชันเบสเซอร์วิสสำหรับการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นในภาคโรงงานอุตสาหกรรม การริเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น แผนการลงทุนในเทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้าออนไลน์ (online facial recognition system) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดขั้นตอนและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการลดโอกาสการเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ เป็นต้น ตลาดไอทีเซอร์วิสในภาพรวมนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ตามลักษณะและรูปแบบของการให้บริการตามนิยามของบริษัทไอดีซี (International Data Corporation - IDC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นนำระดับโลก ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มจะมีคุณลักษณะเฉพาะร่วมที่สำคัญ (key attributes) ดังนี้ - Project-oriented market จะมีสัญญาการจ้างงานระยะสั้น ข้อเสนอและงานบริการปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า ความเป็นเจ้าของด้านสินทรัพย์ (assets) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโอนย้ายระหว่างลูกค้าและผู้ให้บริการ และมีการสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นเป็นผลสำเร็จของงานที่คาดหมายไว้ - Managed services market จะมีสัญญาการจ้างงานระยะยาว ข้อเสนอและงานบริการปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า สินทรัพย์บางส่วนจะมีผู้ให้บริการเป็นเจ้าของและรับผิดชอบดูแลแทนลูกค้า และการรักษามาตรฐานการให้บริการ (on-going service level agreement - SLA) และการปรับใช้ให้เหมาะสมถือเป็นผลสำเร็จของงานที่คาดหมายไว้ - Support services market จะมีสัญญาการจ้างงานระยะยาว ข้อเสนอและงานบริการเป็นรูปแบบมาตรฐานไม่สา มารถปรับเปลี่ยนได้ ความเป็นเจ้าของด้านสินทรัพย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโอนย้ายระหว่างลูกค้าและผู้ให้บริการ และมีการแก้ปัญหาที่ตกลงไว้ได้สำเร็จถือเป็นผลงานที่คาดหมายไว้ ภาพรวมทิศทางของตลาดไอทีเซอร์วิสประเภท project-oriented ในครึ่งปีหลังของปี 2561 ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของตลาดไอทีเซอร์วิสในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 คือการริเริ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน (DX) ในด้านที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมเทคโนโลยี บิ๊กดาต้า เอไอ บล็อกเชน และการพัฒนาคลาวด์เบสแอปพลิเคชัน นอกจากนั้นยังมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนโดยโครงการต่าง ๆ หลากหลาย อาทิเช่นโครงการสมาร์ทซิตี้ ที่ช่วยเพิ่มความต้องการงานไอทีเซอร์วิสในด้านงานที่ปรึกษา (IT consulting services) และงานรวมระบบ (systems integration services) ให้กับอุตสาหกรรมการขนส่งและการก่อสร้าง ในขณะที่ธุรกิจการบริการส่วนบุคคลจะมีความต้องการการพัฒนาในเรื่องของแอปพลิเคชันในแบบ customized มากขึ้น ในด้านฝั่งธุรกิจภาคการเงินการธนาคารมีความต้องการพัฒนาปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเอไอและบล็อกเชนสูงมากขึ้น และภาคโรงงานอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีด้านไอโอที ส่งผลต่อการเติบโตที่มีนัยยะของงานไอทีเซอร์วิสด้านงานที่ปรึกษาด้านเน็ตเวิร์คและงานรวมระบบ (network consulting services & integration) ภาพรวมทิศทางของตลาดไอทีเซอร์วิสประเภท managed services ในครึ่งปีหลังของปี 2561 หลาย ๆ องค์กรที่ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยน ทรานสฟอร์มองค์กร ให้ตอบรับกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และได้มีการวางแผนด้านเงินลงทุนรายปีโดยเฉพาะเพื่อการพัฒนาในด้านดิจิทัลนั้น มีความพยายามในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และเน้นในเรื่องของนวัตกรรม ทำให้งานด้านไอทีบางส่วนที่มีลักษณะงานประจำ (routine tasks) ทำซ้ำ ๆ (repeatable tasks) ภายในองค์กรเหล่านี้ถูกโอนย้ายไปจัดการโดยผู้ให้บริการภายนอก ซึ่งในภาพรวมนั้นมีต้นทุนที่ถูกกว่าการจ้างพนักงานเพื่อมาดูแลงานประจำเหล่านั้นโดยเฉพาะ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานด้านไอทีที่มีอยู่เพื่อบริหารจัดการงานที่ซับซ้อนมากขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาในองค์กรได้ดีขึ้น การลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยเฉพาะคลาวด์เบสแอปที่เติบโตเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร การค้าปลีก การบริการส่วนบุคคล และภาคการขนส่งนั้น นับว่าเป็นตัวเร่งให้เกิดการเติบโตขึ้นมากของงานไอทีเซอร์วิสในกลุ่ม hosted application management นอกจากนั้น การพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชัน (tools) อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทีมนักพัฒนา (AppDev) สามารถผลิตและออกแอปเวอร์ชันใหม่ ๆ หรือออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดในภาพรวม ภาพรวมทิศทางของตลาดไอทีเซอร์วิสประเภท support services ในครึ่งปีหลังของปี 2561 จากแนวโน้มของการย้ายโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีมาที่ระบบคลาวด์ส่วนตัวแบบออนพรีมิส (on-premise private cloud) ขององค์กรต่าง ๆ ทำให้เกิดความต้องการอัพเกรดระบบอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้ตอบสนองต่อการทำงานที่เปลี่ยนไปด้วย รวมไปถึงการเก็บรวบรวม คัดแยก และใช้ประโยชน์จากดาต้าหลากหลายที่มาและหลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มที่มาของแหล่งรายได้ให้กับองค์กรนั้น ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ มีการลงทุนในฮาร์ดแวร์จำพวก SOL server และ stimulation systems ตลอดไปจนถึงซอฟท์แวร์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ อนาไลติกส์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยปกติการลงทุนในระบบโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะต้องมีการอบรมพนักงานให้สามารถใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการทำงานที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบของระบบเหล่านั้นให้สอดคล้องและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งงานซับพอร์ตเซอร์วิสในส่วนนี้ที่เป็นไอทีเซอร์วิสประเภทIT education and training ส่วนใหญ่จะถูกระบุรวมอยู่ในสัญญาการจ้างงานเพื่อลงระบบอยู่แล้ว
แท็ก ไอที  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ