หนุน งานวิจัยปรับพฤติกรรมผู้ใช้น้ำลง 15% และเพิ่มน้ำต้นทุนในอ่าง

ข่าวทั่วไป Thursday August 1, 2019 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--วารีวิทยา เมื่อเร็วๆนี้ สำนักประสานชุดโครงการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นการบริหารงานวิจัยแบบใหม่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดการประชุมให้ข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอโครงการวิจัย โดยมี รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการภารกิจอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ และการริเริ่มงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ เป็นประธานที่ประชุม กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ทีมวิจัยแต่ละคณะได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานวิจัยเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมผู้ใช้น้ำให้ลดการใช้น้ำลง 15% และเพิ่มน้ำต้นทุนในอ่างขึ้น 85% เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมรวมทั้งเปิดโอกาสให้ทีมวิจัยได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการศึกษาวิจัยที่เหมาะสมระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำ และผู้ที่จะนำแผนงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป สำหรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่ได้มีการนำมาเสนอในครั้งนี้ เป็นโครงการสนับสนุนด้านพฤติกรรมผู้ใช้น้ำ 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ "การศึกษาและพัฒนาการใช้ระบบตรวจจับระดับแปลงนาพร้อมระบบสารสนเทศ" 2. โครงการ "กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนแนวทางการปฎิบัติการอ่างเก็บน้ำสำหรับพัฒนาการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในระยะยาวของเขื่อนภูมิพล" 3. โครงการ "การประเมินปริมาณความต้องการน้ำในพื้นที่ราบภาคกลางตอนบน (ระยะที่1) 4." โครงการ "แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร" และ 5. โครงการ "เสริมสร้างกลไกเชิงสถาบันและธรรมาภิบาลการจัดการน้ำชลประทาน" ในโอกาสที่เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอโครงการวิจัยสนับสนุนด้านพฤติกรรมผู้ใช้น้ำ นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน กล่าวว่า ข้อเสนองานวิจัยทั้ง 5 โครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการที่มองว่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานหรือผู้ที่จะนำแผนงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อในพื้นที่ได้ เพราะลักษณะงานวิจัยสามารถจะนำไปปรับประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติของหน่วยงานได้จริง แต่ควรมีการปรับเนื้อหาให้สอดรับกับหน่วยงานที่จำไปปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฯ ซึ่งจริงๆ แล้วในส่วนของหน่วยงานเหล่านี้ก็มีการทำวิจัยอยู่ด้วยเช่นกัน หากนำข้อมูลมาประยุกต์กับหัวข้องานวิจัยและปรับเนื้อหาบางส่วนก็จะเป็นการเติมเต็มให้งานวิจัยสมบูรณ์และก่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น เมื่อผลวิจัยออกมาเราจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง เช่น การจัดการน้ำในเขื่อนจะต้องมองทั้งลุ่มน้ำ ต้องมององค์รวมทั้ง 4 เขื่อนหลัก ไม่ได้มองเขื่อนใดเขื่อนหนึ่ง ต้องมองในภาพรวมแยกกันไม่ได้ ส่วนกรณีที่หลายจังหวัดในภาคเหนือและอีสานเผชิญกับภัยแล้ง อ่างเก็บน้ำหลายแห่งน้ำแห้งขอด นายสัญญา กล่าวว่า แม้จะเป็นฤดูฝนแต่จากภาวะฝนทิ้งช่วงนานทำให้น้ำไหลเข้าอ่างน้อย ซึ่งเรื่องนี้ทางชลประทานได้มีการปรับแผนการปล่อยน้ำโดยจะจัดรอบเวรการใช้น้ำ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อขอความร่วมมือและรักษากติกา เพื่อให้น้ำได้ไปถึงเกษตรกรที่อยู่ปลายน้ำได้ใช้ เพราะถ้าเกษตรกรไม่รักษา กติกา น้ำที่ปล่อยก็จะไปไม่ถีงปลายน้ำ แต่สถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากจะเริ่มมีฝนตกเพิ่มขึ้นในเดือนส.ค.-ก.ย. ที่น่าห่วงคือ หลังเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะมีน้ำเหลือในอ่างมากน้อยแค่ไหนในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้จะบริหารจัดการกันอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งพิจารณา "อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า งานวิจัยจะเข้าไปเสริมศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในอนาคตได้ เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ มุ่งเน้นเรื่องกลไกของประชาชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ ฉะนั้นเราก็จะสามารถนำงานวิจัยไปสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ รวมถึงนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรด้วยเช่นกัน"
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ