ชาวชุมพรขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางพลังงาน ร่วมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงพยาบาลหลังสวน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2019 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคประชาชนในอำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพรขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางพลังงานโดยเข้าร่วมกิจกรรมอบรมความรู้เรื่องระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และปฏิบัติการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 30 กิโลวัตต์ให้กับโรงพยาบาลหลังสวน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานเกิดขึ้นเมื่อวัน ณ ที่ว่าการอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบเข้ากองทุนแสงอาทิตย์เพื่อนำไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการช่วงแรกของกองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) [2] ที่ใช้เงินบริจาคจากประชาชนทั้งหมดเพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปในระบบออนกริดหรือระบบที่ไม่ใช้แบตเตอรี่สำรองแต่ยังเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้า โดยที่โรงพยาบาลหลังสวนจะเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งแรกของภาคใต้และแห่งที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลหลังสวน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ขนาด 120 เตียง รับผิดชอบประชาชนอำเภอหลังสวนและอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดชุมพรไม่น้อยกว่า 150,000 คน และรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนในโซนใต้ของจังหวัดชุมพร ประกอบด้วยโรงพยาบาลละแม โรงพยาบาลพะโต๊ะ โรงพยาบาลทุ่งตะโก และโรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน ด้วยขีดจำกัดทางด้านงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทางโรงพยาบาลหลังสวนจึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายที่สามารถทำได้ อย่างเช่น การประหยัดพลังงานและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลเฉลี่ยเดือนละราว 5 แสนบาท นายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า "ทางโรงพยาบาลมีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยมีอาคารบริการของโรงพยาบาลที่มีความเหมาะสมในการติดตั้งและลงทุน มีบุคลากรที่ทำงานซ่อมบำรุงที่จะสามารถเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในการร่วมติดตั้งและดูแลรักษาอีกราว 8 คน โรงพยาบาลมีนโยบาย และคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลมีความมุ่งมั่นในการประหยัดพลังงานและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน การระดมทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับโรงพยาบาลจะช่วยลดภาระค่าไฟให้กับโรงพยาบาล และหากมีมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วยจะช่วยให้ลดภาระค่าไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีก" บุญยืน ศิริธรรม คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า " การบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์เพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลทั้ง7แห่งแรกของประเทศไทยสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ภายในปี2562นั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญยิ่งในการต่อกรกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผูกขาดอำนาจการจัดการพลังงาน เมื่อทุกหลังคาบ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วนอกจากจะลดค่าบิลไฟฟ้าของครอบครัว ยังลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศอีกทั้งหายนะทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของทุกคน ประชาธิปไตยทางพลังงานย่อมจะเกิดเมื่อเราสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน" ปฏิบัติการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของกองทุนแสงอาทิตย์ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเพื่อความเป็นธรรมทางพลังงาน แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2562) มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเน้นไปที่ระดับกิจการ (utility scale) เช่น โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งมีกลไกสนับสนุนผ่านการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff [3]ในขณะที่ระบบ Net-metering ยังเป็นเพียงโครงการนำร่องโดยการติดตั้งโซลาร์รูฟที่ผลิตเพื่อใช้เองและเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลเพราะยังคงติดอยู่ที่ระเบียบการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่อนุญาตให้มีกระแสไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบ ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนตามแผนของกระทรวงพลังงานนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ทางออกเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางพลังงานคือกลไกเชิงนโยบายที่รับประกันถึงสิทธิของประชาชนในการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและส่งไฟฟ้าขายเข้าระบบสายส่งได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านมาตรการ Net Metering[4] เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ และกรีนพีซเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(Energy Regulatory Commission of Thailand) ออกมาตรการ net metering โดยเร็ว"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ