ปภ. รายงานมีจังหวัดประกาศเขตฯ ฝนแล้ง 6 จังหวัด 24 อำเภอ ประสานจังหวัดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Friday August 9, 2019 09:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฝนแล้ง) 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ และสุพรรณบุรี รวม 24 อำเภอ 167 ตำบล 2,097 หมู่บ้าน ซึ่ง ปภ.ได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อน แก่ประชาชน พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (9 ส.ค.62) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฝนแล้ง) 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ และสุพรรณบุรี รวม 24 อำเภอ 167 ตำบล 2,097 หมู่บ้านโดยเพชรบูรณ์ ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รวม 16 ตำบล 221 หมู่บ้าน นครสวรรค์ ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตากฟ้า และอำเภอไพศาลี รวม 12 ตำบล 102 หมู่บ้าน ศรีสะเกษ ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไพรบึง และอำเภอเมืองจันทร์ รวม 9 ตำบล 132 หมู่บ้าน นครราชสีมา ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอครบุรี และอำเภอพระทองคำ รวม 8 ตำบล 94 หมู่บ้าน ชัยภูมิ ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในพื้นที่ 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอซับใหญ่ อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอเนินสง่า อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอ บ้านแท่น อำเภอบ้านเขว้า อำเภอจัตุรัส อำเภอคอนสาร อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอภูเขียว อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอบำเหน็ดณรงค์ รวม 120 ตำบล 1,542 หมู่บ้าน สุพรรณบุรี ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในอำเภอเดิมบางนางบวช รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้านทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปภ. ได้ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการจัด ชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน อีกทั้งตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ