ม.ศรีปทุม ผนึกกำลัง พช. ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ปูทางสร้างนวัตกรรมสู่ชุมชน ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

ข่าวทั่วไป Thursday August 15, 2019 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม ม.ศรีปทุม เดินหน้าขับเคลื่อนบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ร่วมลงนามความร่วมมือกรมพัฒนาชุมชน หวังสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ พัฒนานวัตกรรมสู่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อสร้างคน สร้างรายได้ และกระจายความเจริญ คณะสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมกับ กรมพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU)เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมบัณฑิตพันธุ์ใหม่ให้เลือกเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจร่วมกับสถานประกอบการในชุมชนกว่า 3,000 แห่ง เป็นการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ให้นักศึกษาเห็นภาพกว้าง ศึกษากระบวนการ และลงมือปฎิบัติจริง ในโครงการ ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เตรียมพร้อมสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี และคณบดีคณะสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม พร้อมด้วย นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ เวทีกลาง งานศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกล ด้วยพระบารมี 2562 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตให้มีสมรรถนะสูงตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โดยคณะสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้จัดทำหลักสูตร "การพัฒนานวัตกรรมสู่ชุมชน" โดยเน้นการศึกษาจากการลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้โจทย์ปัญหาจริงจากชุมชน และเน้นการค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งได้เลือกชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการฯ ทางด้าน นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีแล้ว ยังเป็นเวทีที่ให้โอกาสนักศึกษาในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต และวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวชุมชนผ่านการค้นหาและรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน สร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมสู่ชุมชน เสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว สร้างโอกาสในการแข่งขันทางการตลาดท่องเที่ยว นำไปสู่การกระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความสุขให้ชุมชนอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ