ศูนย์ ปภ. เขต 2 สุพรรณบุรี ซ้อมแผนป้องกันภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย จ.อ่างทอง

ข่าวทั่วไป Monday February 18, 2008 09:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี ดำเนินการฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายจังหวัดอ่างทอง เพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มีทักษะในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย และเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องมืออุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง นายศรีสมบัติ พรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากเส้นทางในเขตพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มีรถบรรทุกสารเคมีและวัตถุอันตรายวิ่งผ่าน ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงมอบให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี จัดฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายจังหวัดอ่างทอง ในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ณ บริเวณหน้าวัดแสนสุข ถนนสายอยุธยา — อ่างทอง ตำบลบางปลากด อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง โดยมีนายสุเมธ แสงนิ่มนวล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานการฝึกซ้อมแผนฯ เพื่อให้บุคลากรของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทอง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน มีทักษะความชำนาญในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งเป็นการทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เขต 2 กรณีเกิดอุบติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน และทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์หากเกิดภัยพิบัติจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยแบ่งขั้นตอนการดำเนินงานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การเตรียมการจัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย รวมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในการฝึกซ้อมแผน โดยมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบตามความสามารถของหน่วยงานและบุคลากร ส่วนที่ 2 เป็นการประชุมเตรียมความพร้อมและแบ่งมอบภารกิจ เพื่อกำหนดสถานการณ์จำลอง ขั้นตอนและวิธีการฝึก ลำดับ ระยะเวลาการปฏิบัติและสถานที่ ที่จะใช้ในการฝึกซ้อมแผน สุดท้ายเป็นขั้นตอนการดำเนินการฝึกซ้อมแผนฯ ตามที่ ได้กำหนดไว้ ซึ่งการดำเนินการซ้อมแผนในครั้งนี้ จะทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ มีทักษะในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย เป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องมืออุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพทำให้หน่วยงานที่เข้าร่วมบูรณาการมีความคุ้นเคยและมีทักษะในการปฏิบัติตามแผนป้องกันภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ