THAI Smile Safety Symposium 2019 เพราะมาตรฐานการบินปลอดภัย คือความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday August 21, 2019 11:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ เหตุผลของคนไปงานสัมมนา อาจเพราะเป็นเรื่องที่เขาสนใจ เป็นเรื่องใกล้ตัว สาระข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับงาน THAI Smile Safety Symposium 2019 ที่สายการบินไทยสมายล์จัดขึ้นมา ต้องยอมรับว่าฉีกกฎงานสัมมนาทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะงานนี้คิดและทำเพื่อ "ทุกคน" โดยเฉพาะผู้โดยสารบนเครื่องบินให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุดนั่นเอง THAI Smile Safety Symposium 2019 เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้บริหารของบริษัทฯ และทางฝ่ายความปลอดภัยและความมั่นคงการบินของไทยสมายล์ที่ต้องการตอกย้ำ "มาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน คือหัวใจในการทำงานของธุรกิจ" จึงเชิญชวนบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงการธุรกิจการบิน ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุในราชอาณาจักร บริษัทท่าอากาศยานไทย กรมท่าอากาศยาน บริษัทวิทยุการบิน และ สายการบินต่าง ๆ มาร่วมกันรับฟังและระดมความคิดในเรื่องระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย (Safety Management System: SMS) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานที่ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เน้นย้ำมาโดยตลอด และยังมุ่งหวังให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในอุตสาหกรรมการบินในประเทศ พร้อมปูทางไปสู่ข้อกำหนดขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้สำเร็จในเร็ววัน ระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย (SMS) มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะองค์ประกอบที่ 4 เรื่อง Safety Promotion ในหัวข้อสัมมนาที่ต้องยกนิ้วให้ "Safer Thai Smile Safer Thailand" ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดระบบความปลอดภัยที่ดีแก่องค์กร งานนี้ถูกจัดในรูปแบบการบรรยายและการเสวนา โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ มาให้ความรู้ เริ่มกันที่ Session1 :THAI Smile SMS, Safety Policy and Cultures โดย นาวาอากาศเอกสุรเชษฐ์ สุระกุล ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยและความมั่นคงการบิน คุณเกษมสันติ์ บริบูรณ์สมสิน ผู้จัดการแผนกความปลอดภัยการบิน ขอใช้พื้นที่นี้ปรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจทุกคนกันก่อน โดยมีผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย คุณชาริตา ลีลายุทธ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกัปตันอภิธัช ลิมปิสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด รวมถึง กัปตันเจตน์ เมืองครุธ ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยด้านการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมเผยถึงความมุ่งมั่นว่าจะยึดถือการบินไทยเป็นต้นแบบ เน้นพิจารณาการลงทุนที่เหมาะสม และประกาศความพร้อมสนับสนุนทรัพยากรเงินทุน บุคลากร และการอบรมต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานทุกภาคส่วนเกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความปลอดภัย ตลอดจนตอกย้ำวัฒนธรรม Just Culture ที่ไทยสมายล์ยึดถือมาโดยตลอด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ไม่มีบทลงโทษ หากแต่การกระทำนั้นต้องไม่ได้เกิดจากการตั้งใจในการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อส่งต่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของพนักงานทุกคนในองค์กร Session 2: Aviation Medicine Procedures and THAI Smile Case Study for Sharing โดย พล.อ.ต.นายแพทย์บัณฑิต วงษ์เจริญธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มาชี้ให้เห็นความสำคัญขั้นตอนการตรวจทางด้านเวชศาสตร์การบินทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติ เพื่อให้เกิดความพร้อมมากที่สุดในการกลับไปปฏิบัติหน้าที่การบินด้วยความปลอดภัย ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน Session 3 : Thailand Aviation Safety Roadmap โดย CAAT ซึ่งดร.ไพสิฐ เหราบัตย์ ผู้จัดการฝ่ายนิรภัยการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เผยถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ICAO และวางรากฐานของระบบ Reporting System เพื่อเป็นฐานข้อมูลของการพัฒนาทางด้านความปลอดภัย นอกจากนั้น ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมเสวนาบอกเล่าข่าวดีในการเตรียมความพร้อมการผลักดันให้เกิดแผนนิรภัยแห่งชาติที่สมบูรณ์ตามแผน Effective Implementation SSP ให้ลุล่วงตามกรอบแผนงานภายในปี ค.ศ. 2025 ตลอดจนเร่งศึกษาและกำหนด Safety Performance Indicators เพื่อเป็นตัวชี้วัดทางด้านความปลอดภัยอีกด้วย ปิดท้ายกันที่ Session 4 : AAIC Procedures and Coordination โดย AAIC โดย คุณวีณา นุสดิน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (AAIC) กระทรวงคมนาคม เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานส่งคำถามเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ส่วนใหญ่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับ Serious Incident ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาเหตุอุบัติการณ์รุนแรงที่ต้องผ่านมติของคณะกรรมการการสอบสวน และความพร้อมของ AAIC ในการรับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ส่วนการออกปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุเร่งด่วนที่จำเป็นที่ต้องให้หน่วยงาน AAIC เร่งเข้าตรวจสอบเพื่อปลดพิทักษ์อากาศยาน หรือในกรณีเกิดความจำเป็นอื่นๆ ก็สามารถประสานงานไปยังหน่วย AAIC เพื่อนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตามแต่กรณี นอกจากนั้นยังได้ให้ข้อมูลถึงการตรวจร่างกายหลังจากเกิดเหตุการณ์ว่าบุคคลใดต้องได้รับการตรวจบ้าง และมีกระบวนการตรวจอย่างไร เป็นต้น ถึงแม้ THAI Smile Safety Symposium 2019 จะจัดขึ้นเฉพาะกลุ่มคนในวงการบินเท่านั้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า สัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการทุกคนจริงๆ เพราะความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนดังคำกล่าว "Together for Safety" ดังนั้นไทยสมายล์และบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินทุกภาคส่วนจึงต้องเดินหน้าผลักดันระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยอย่างจริงจัง ยึดมั่นในมาตรฐานอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และดูแลความปลอดภัยอย่างรอบด้าน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้โดยสารและผลักดันอุตสาหกรรมการบินของไทยให้มุ่งสู่มาตรฐานสากลอย่างเต็มรูปแบบสูงสุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ