โรคหายาก ความท้าทาย ที่ต้องเร่งวินิจฉัย

ข่าวทั่วไป Monday August 26, 2019 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โรคหายาก (Rare Diseases) เริ่มกลายเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้ง เมื่อดารามีชื่อเสียงหลายคนเกิดอาการที่ยากต่อการวินิจฉัยรวมถึงการรักษาของแพทย์ เนื่องจากพบอุบัติการณ์ของโรคน้อย ตามคำนิยามโรคหายาก แต่ละโรคจะมีความชุกต่ำกว่า 1 ใน 2,000 คน แต่จำนวนโรคนั้นกลับมีมากกว่า 7,000 โรค ทำให้มีคนไทยป่วยด้วยโรคหายากโรคใดโรคหนึ่งมากถึงหลายล้านคน โดยมากกว่า 80% ของโรคเป็นโรคทางพันธุกรรม สำคัญกว่านั้นคือเรามีข้อมูลเกี่ยวกับโรคพวกนี้น้อยมาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวด้านโรคพันธุกรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยของ สกสว. กล่าวว่า "กลุ่มโรคหายากส่วนใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรม ก่อให้เกิดความผิดปกติได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า เพราะการสร้างและการทำงานของอวัยวะทุกส่วนของเราถูกกำหนดด้วยรหัสพันธุกรรม (Genetic code) ทั้งสิ้น โดยคาดว่าประชากรไทยทั้งประเทศราว 8% หรือมากกว่า 5 ล้านคน จะเป็นโรคใดโรคหนึ่งของโรคหายาก ซึ่งโรคหายากนี้อาจแสดงอาการออกตั้งแต่อายุเท่าใดก็ได้ ขั้นแรกที่จะนำไปสู่การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือ การศึกษาหาต้นเหตุว่าอาการผิดปกติเหล่านั้นเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนอะไร" การเก็บประวัติ เก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย ผิวหนัง นำมาสกัดหาสารพันธุกรรม เพื่อนำไปวิเคราะห์หา "การกลายพันธุ์และยีนก่อโรคใหม่" จึงกลายเป็นงานที่ ศ.นพ.วรศักดิ์ และทีมวิจัย ทำต่อเนื่องมามากกว่า 19 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับโรคพันธุกรรมหายากของประเทศไทยมาให้มากที่สุด "การหายีนก่อโรคยีนใหม่นั้น ต้องอาศัย 4 ปัจจัยหลักคือ เครื่องวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรม โปรแกรมตรวจวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรม ฐานข้อมูลสารพันธุกรรม และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สิ่งที่ทีมทำเป็นการศึกษาย้อนกลับ คือ เริ่มศึกษาจากผู้ป่วย หรือในมุมมองของวิทยาศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าเป็น "Natural-occurring knockout human" แล้วหาว่ายีนตัวไหนที่มีความผิดเพี้ยนไป (Genetic mutation) การที่โรคพบน้อย บ่งชี้ว่าธรรมชาติมีกลไกหลายชั้นเพื่อป้องกันการเกิดโรค แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งจึงเสมือนหน้าต่างของโอกาสได้เปิดขึ้นที่ทำให้มนุษย์นั้นมีโอกาสเข้าใจธรรมชาติได้มากขึ้น ในปัจจุบันเทคโนโลยีการอ่านรหัสลำดับสารพันธุกรรมก้าวหน้าไปมาก แต่ความยากคือ การวิเคราะห์ว่าความแตกต่างของลำดับสารพันธุกรรมใดในผู้ป่วยที่เป็นสาเหตุของโรค การรู้ว่ายีนใดก่อโรคจะนำมาซึ่งความรู้เกี่ยวกับพยาธิกำเนิดของโรค และในที่สุดจะได้วิธีการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ตลอดจนแนวทางในการดูแลสุขภาพและรักษาผู้ป่วยแต่ละรายอย่างจำเพาะเจาะจง รวมทั้งการให้คำแนะนำสมาชิกคนอื่นในครอบครัวและการวางแผนการตั้งครรภ์เพื่อให้เด็กที่คลอดออกมามีสุขภาพแข็งแรง" ศ.นพ.วรศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ผลจากงานวิจัยทำให้พบยีนก่อโรคชนิดใหม่ของโรคหายากมากมาย เช่น การพบการกลายพันธุ์ในยีน SATB2 ใน Glass syndrome (อาการพัฒนาการล่าช้า) หรือ การค้นพบเป็นครั้งแรกว่ายีน DLX5 และ DLX6 ในเซลล์กระดูกของคนปกติเป็น Imprinted gene (ศึกษากลไกการเกิดโรคของภาวะนิ้วไม่ครบ) รวมถึงก่อประโยชน์ต่อการรักษาโรคทั่วไปมากมาย หลายครั้งที่ผลจากงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์การรักษาโรคหายากถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการรักษาผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคทั่วไป เนื่องจากโรคหายากจะเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนๆหนึ่งที่ส่งผลกระทบสูงหากเทียบกับโรคทั่วไปที่มีการกลายพันธุ์ของยีนตัวนี้เช่นกันแต่เป็นชนิดที่ส่งผลต่ำกว่า ต้องร่วมกับการกลายพันธุ์ของยีนอื่นหรือปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมจึงจะทำให้เกิดอาการ ตัวอย่างจากงานวิจัยของกลุ่มเรา คือการค้นพบยีน MBTPS2 เป็นยีนก่อโรคตัวใหม่ที่ทำให้เกิดโรคกระดูกเปราะหักง่าย ซึ่งเกิดกับครอบครัวของคนไข้ชาวไทยเป็นครั้งแรกของโลกนอกจากสามารถหาสาเหตุเพื่อดูแลผู้ป่วยครอบครัวนี้ได้แล้ว ความรู้ยังอาจสามารถนำไปต่อยอดสู่แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสตรีวัยหมดประจำเดือนได้อีกด้วย ปัจจุบัน ศ.นพ.วรศักดิ์ และทีมวิจัย ได้มีการสร้างเครือข่ายและพัฒนาวิธีการวินิจฉัยกลุ่มโรคหายากในเด็ก โดยมีการแลกเปลี่ยนสนับสนุนกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลในภูมิภาค เพื่อพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพสูงโปรแกรมวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรมและมีฐานข้อมูลของคนไทยขนาดใหญ่ พร้อมที่จะส่งต่อต้นแบบองค์ความรู้ไปสู่แพทย์และโรงพยาบาลในภูมิภาค เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากกว่านี้ ซึ่งนอกเหนือจากการขับเคลื่อนของบุคลากรและหน่วยงานในงานด้านนี้แล้ว การส่งเสริมจากภาครัฐก็เป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะทำให้องค์ความรู้เหล่านี้ก้าวหน้าและถูกนำไปประยุกต์ใช้จริง "งานวิจัยของเราที่ผ่านมาเป็นงานวิจัยต้นน้ำหรือวิจัยพื้นฐาน (Fundamental Research) ถึงงานวิจัยกลางน้ำ (Translational Research) พร้อมที่จะนำไปต่อยอดเป็นการวิจัยประยุกต์ (Applied research) หรือไปสู่การบริการทางการแพทย์" ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
แท็ก นิยาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ