ต่อยอดโครงการ สานสัมพันธ์ ฉลองครบรอบ ๓๐ ปี ไทย – ภูฏาน

ข่าวทั่วไป Wednesday August 28, 2019 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ภูฏานครบรอบ ๓๐ ปี ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับ ภูฏานเป็นอย่างมาก และไทยยังเป็นประเทศต้นแบบการพัฒนาให้แก่ภูฏานในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอด ๓๐ ปี ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับภูฏาน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency – TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้รัฐบาลไทย เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือประเทศคู่ร่วมมือ และริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการทวิภาคีในภูฏานหลาย ๆ ด้าน ประกอบไปด้วย ๑) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) คือ การให้ทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท (Thailand International Postgraduate Programme – TIPP) และทุนฝึกอบรมระยะสั้น (Annual International Training Course – AITC) ๒) โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand) คือ การส่งอาสาสมัครชาวไทยไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ของภูฏาน โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น ๗๗ ราย ๓) โครงการส่งเสริมด้านการเกษตร โดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP (One Gewog One Product) เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตรของภูฏาน ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ในการเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก ๔) การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) โดยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตนเอง และเป้าหมายของโครงการพัฒนาในภูฏาน คือ การขจัดความยากจน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของไทยกับภูฏานมีตั้งแต่ระดับราชวงศ์ โดยมีโครงการที่ทำให้ราชวงศ์ไทยและภูฏานใกล้ชิดกันมาก คือ โครงการในพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดูแลและอุปถัมภ์โรงเรียนในภูฏานจำนวน ๑๑ แห่ง ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในภูฏาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ โดยมีโครงการของ TICA ที่ทำร่วมกับภูฏาน คือ ความร่วมมือด้านการพัฒนา โดยประเทศไทยได้มีบทบาทในการส่งเสริมด้านการพัฒนาในหลายด้าน โครงการของ TICA ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ๑) ด้านการพัฒนาชุมชน โดย TICA เข้าไปร่วมพัฒนาโครงการ OGOP ร่วมกับสำนักงานโครงการในสมเด็จพระราชนี (The Queen's Project Office – QPO) ของภูฏาน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาชุมชนให้มีสินค้าและเกิดรายได้ให้แก่ชุมชนบนพื้นฐานความพอเพียงและยั่งยืน โดย TICA ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชนและสินค้า OTOP ของไทย เข้าไปร่วมพัฒนาโครงการ OGOP ในภูฏาน ๒) ด้านการพัฒนาสาธารณสุข โดยมีโครงการความร่วมมือด้านสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ในสาขา หู ตา จมูก คอ (Ear, Eye, Norse, and Throats Care Service Center Project) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ Royal Civil Service Commission (RCSC) และมีแผนพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาและฝึกอบรมในสาขาที่เป็นที่ต้องการของภูฏาน รวมถึงการพัฒนาศูนย์ตา และการจัดสร้างศูนย์ หู จมูก คอ ในพื้นที่ของภูฏาน ๓) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดย TICA ได้ให้ทุนแก่ชาวภูฏานที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมระยะสั้น จำนวน ๔๕ ทุนต่อปี และทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท จำนวน ๕๐ ทุนต่อปีในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับทุนจากภูฏานที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก Mr. Tashi รองราชเลขาธิการ สำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน กล่าวว่า ภูฏานได้มีการส่งผู้แทนไปศึกษาดูงานที่ประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและสามารถนำกลับมาพัฒนาประเทศได้ โดยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้แทนจากชุมชน ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีช่วยในการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และ TICA ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไทยเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการ OGOP โดยใช้หลักการเดียวกับการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทย ควบคู่ไปกับการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในปี ๒๕๖๒ นี้ เป็นปีครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ภูฏาน TICA ได้กลับมาเยือนภูฏานอีกครั้ง เพื่อติดตามผลและหารือการดำเนินโครงการต่าง ๆ รวมถึงโครงการ OGOP ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนในภูฏานเป็นอย่างมาก โดยความพิเศษของปีที่ ๓๐ นี้ คือ การสานต่อโครงการ OGOP ไปสู่ระยะที่ ๒ ซึ่งจะเป็นการขยายผลไปสู่เมืองอื่น ๆ ในภูฏาน ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ