เอ็นไอเอ มอบรางวัลสุดยอดภาพถ่าย “นวัตกรรมการท่องเที่ยว” ตั้งเป้ากระตุ้น “ทราเวลเทค” ผ่านโฟโต้คอนเทสต์

ข่าวทั่วไป Thursday August 29, 2019 13:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) มอบรางวัลให้กับผู้ชนะจากโครงการประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม "Innovation Thailand Photo Contest 2019" ภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมการท่องเที่ยว:Traveltech Innovation" เผยมีภาพถ่ายร่วมส่งเข้าประกวดมากกว่า 1,300 ภาพ ภายใต้รางวัล 2 ประเภทคือ ประเภทการถ่ายภาพโดยใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) และประเภทการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง DSLR กล้อง Digital กล้องบรรจุฟิล์ม หรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมืออื่น ๆ ทั้งนี้ ยังได้นำภาพที่ได้รับรางวัล ไปจัดแสดงในรูปแบบ Photo Gallery ภายในงานมหกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศไทย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ได้ร่วมกับGISTDA มหาวิทยาลัยนเรศวร สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย และบริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จัดการประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม "Innovation Thailand Photo Contest 2019" ภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation" ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายในการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยวโดยอาศัยการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือ พร้อมสร้างความมีส่วนร่วมต่อสังคม ในการช่วยกันนำเสนอปัญหาและโอกาสในพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยว และรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัพมาสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมของสังคม ชุมชน โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม "Innovation Thailand Photo Contest 2019" ภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation" มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประกวดพร้อมส่งผลงานเข้าชิงรางวัลทั้งสิ้น 1,353 ผลงาน แบ่งรางวัลออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทการถ่ายภาพโดยใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) จำนวน 176 ผลงาน และประเภทการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง DSLR กล้อง Digital กล้องบรรจุฟิล์ม หรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมืออื่น ๆ อีกจำนวน 1,177 ผลงาน ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลประเภทการถ่ายภาพโดยใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) ได้แก่ นายธนพร ดิษยบุตร (ชนะเลิศ) ในผลงาน "ยกยอ" ซึ่งเป็นภาพที่สื่อถึงการนำนวัตกรรมการจับสัตว์น้ำแบบชาวบ้านหรือที่เรียกกันว่า "ยอ" มาใช้ในการประกอบอาชีพ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 นายสุรเชษฐ อินอัญชัญ ในผลงาน "ก่อกองทรายบางแสน" โดยสะท้อนถึงนวัตกรรมของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่เกิดจากการการใช้วัสดุ อุปกรณ์จากธรรมชาติหรือวัสดุย่อยสลายง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายชาญวิทย์ อิสราสุวิภากร ในผลงาน "บูรณะพุทธศิลป์" ซึ่งเป็นภาพที่สื่อถึงการนำนวัตกรรมในการก่อสร้างมาใช้ในการบูรณะ ซ่อมแซม สิ่งก่อสร้างทางการท่องเที่ยว ด้านผลงานที่ได้รับรางวัลประเภทการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง DSLR กล้อง Digital กล้องบรรจุฟิล์มหรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมืออื่น ๆ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ นายพิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ ในผลงาน "สปาหิมะดำ" ซึ่งเป็นภาพที่สื่อถึงนวัตกรรมการรักษาสุขภาพโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีการนำเศษซากอ้อยและดินมาใช้ในการรักษาอาการปวดเมื่อย และก่อให้เกิดกิจกรรมใหม่ในการท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 นายวีรพงษ์ ธนวงศ์อุดม ในผลงาน "จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว" ที่สะท้อนถึงการใช้นวัตกรรมยานพาหนะที่ลดการปล่อยของเสียและลดใช้พลังงาน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายสุริยา ผลาหาญ ในผลงาน "ท่องเที่ยวชุมชนโอทอป" ซึ่งภาพนี้สื่อถึง การนำเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ขวดพลาสติก ถังน้ำมัน มาประยุกต์เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อใช้อำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวชุมชน อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังถือเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับวงการการถ่ายภาพ และการใช้อากาศยานไร้คนขับ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับวิชาชีพและความสนใจในสถานศึกษา ตลอดจนช่วยยกระดับสตาร์ทอัพกลุ่มมาร์เทค (ดนตรี ศิลปะ ความบันเทิง) ให้เกิดขึ้นทั้งในระดับปริมาณและคุณภาพในประเทศไทย นอกจากนี้ ผลงานที่เกิดจากกิจกรรมนี้ ยังจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีความสนใจในการถ่ายภาพเพื่อนำผลงานไปใช้ในการต่ยอดเชิงพาณิชย์ การประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ด้าน นายอดุล ตัณฑโกศัย กรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาพถ่ายนวัตกรรมการท่องเที่ยวเป็นภาพที่แสดงออกถึงการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจการท่องเที่ยว หรือเป็นภาพที่สร้างความตื่นตัวและความตระหนักในการที่จะนำนวัตกรรมการท่องเที่ยวมาใช้ โดยผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้สามารถถ่ายทอดผลงานออกมาได้น่าประทับใจและอยู่ในระดับที่ดีเยี่ยม โดยกรรมการได้พิจารณาทั้งด้านความสวยงาม องค์ประกอบภาพ การสื่อสารทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความถูกต้องของข้อมูลประกอบการถ่ายภาพ รวมทั้งความยากง่ายของภาพถ่ายแต่ละประเภท ซึ่งใช้ระยะเวลาในการคัดเลือกภาพมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้ได้ภาพที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการประกวดภาพถ่ายนวัตกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุด อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับโอกาสการเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อต่าง ๆ แล้ว ยังได้ร่วมกิจกรรม Phototech Together Workshopเพื่อเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพ และเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการใช้อุปกรณ์กล้อง DSLR กล้องฟิล์ม อากาศยานไร้คนขับ และเครื่องมือในการบันทึกภาพประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ และการผลิตคอนเทนท์ซึ่งมีภาพถ่ายป็นส่วนประกอบสำคัญ นอกจากนี้การจัดประกวดในครั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ยังจะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง เงินรางวัล 15,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สองเงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลชมเชย เงินรางวัล 3,000 บาท ขณะที่ ปราณปริยา วงศ์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับแบบครบวงจรให้แพร่กระจายและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย GISTDAจึงได้นำผลงานภาพถ่ายนวัตกรรมท่องเที่ยวมาร่วมจัดแสดงในงาน Thailand Space Week 2019 หรือ มหกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2562 โดยถือเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยส่งต่อคุณค่า และเปิดโอกาสการเสริมสร้างความสามารถของคนไทยให้มีความพร้อมต่อการใช้เทคโนโลยีอวกาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมดังกล่าวในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การป้องกันประเทศ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การบรรเทาภัยพิบัติ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางสำหรับผู้ที่มีความสนใจและมีความสามารถสู่เส้นทางสายอาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เกิดขึ้น นอกจากนี้กิจกรรมและความร่วมมือในครั้งนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการเผยแพร่ภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ของการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีทั้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและนวัตกรรม เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่อเนื่องถึงโอกาสในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพเพื่อสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ