เกษตรโชว์แปลงต้นแบบเกษตรอัจฉริยะสับปะรด ยกระดับสู่การเป็นสังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่

ข่าวทั่วไป Thursday August 29, 2019 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรเปิดแปลงต้นแบบเกษตรอัจฉริยะสับปะรด หวังสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรยกระดับสู่สังคมเกษตรกรรม 4.0 มุ่งลดต้นทุนการผลิต-ลดการใช้แรงงานภาคการเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันอุตสาหกรรมสับปะรดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579 ) มุ่งแก้ไขจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาวประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน โดยในยุทธศาสตร์ที่ 3 กำหนดให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตรและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบและส่งเสริมการนำงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตรแม่นยำสูง โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมไปสู่สังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่หรือเกษตรกรรม 4.0 โดยวางเป้าหมายจัดทำแปลงเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิตพืชในพื้นที่แปลงใหญ่เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรสามารถมาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลในแปลงของตนเองได้ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเร่งขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะสับปะรดขึ้น เพื่อเป็นแปลงต้นแบบให้เกษตรกรชาวไร่สับปะรดได้เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อนำไปพัฒนาแปลงของตนเองในอนาคต ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยภายในแปลงต้นแบบสับปะรดดังกล่าวจะมีการนำการเกษตรแบบแม่นยำมาทดสอบใช้ในแปลงเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะให้แก่เกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในแปลงปลูกสับปะรด ช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ การทำเกษตรอัจฉริยะ จะช่วยลดต้นทุน ลดปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี น้ำ และการใช้แรงงานคน ตลอดจนเพิ่มปริมาณคุณภาพผลผลิตและรายได้เกษตรกร สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ เพื่อสนับสนุนด้านการตลาด และช่วยในการวางแผนการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกำหนดตลาดล่วงหน้า อันจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรได้ ซึ่งปัจจุบันสับปะรดถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งในประเทศไทย สามารถร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์ ในลำดับต้นๆของโลกมีมูลค่าส่งออกถึง20,000ล้านบาทต่อปี ทั้งในรูปของสับปะรดผลสด สับปะรดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรด ด้านนางสาววิชชุลดา ยั่งยืน นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำแปลงเกษตรอัจฉริยะสับปะรดดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการในในพื้นที่ของนายรุ่งเรือง ไล้รักษา สมาชิกศูนย์เรียนรู้การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร(ศพก.) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ในพื้นที่ 20 ไร่ โดยเป็นการเปรียบเทียบระหว่างกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของเกษตรจำนวน10ไร่ และกรรมวิธีการผลิตตามแนวทางเกษตรอัจฉริยะจำนวน 10 ไร่ โดยกรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะได้นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรและประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้และทดสอบในแปลงเรียนรู้ ครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการผลิตสับปะรดขั้นเตรียมดินและปลูก ตั้งแต่การจัดการให้ปุ๋ยอย่างแม่นยำ มีการใช้ปุ๋ยเติมอากาศเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่วนการปลูกและใส่ปุ๋ยจะมีการการปลูกโดยใช้แทรกเตอร์ระบบพวงมาลัยอัตโนมัตินำร่องด้วยระบบ GPS การให้น้ำและปุ๋ยตามความต้องการของพืช การติดตามการเจริญเติบโต การเกิดโรคและแมลง โดยการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับร่วมกับการใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาพ จนกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยว ข้อมูลในทุกกิจกรรมการผลิตที่เก็บรวบรวมได้จากแปลงเรียนรู้ จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนา Big Data Platfam ที่สามมารถนำเข้า ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบInternet เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ เผยแพร่ และเตือนภัยให้กับเกษตรกรผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ