สอศ.ร่วมกับยูเนสโก กรุงเทพฯ และยูเนสโก เยอรมนี จัดประชุมนานาชาติเพื่อพัฒนาผู้นำด้านอาชีวศึกษาในประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สอดรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday September 2, 2019 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และยูเนสโก เยอรมนี จัดประชุมอบรมนานาชาติเพื่อพัฒนาผู้นำด้านอาชีวศึกษาประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (UNEVOC TVET Leadership Programme for Asia – Pacific) โดยมีดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงาน และมีผู้บริหารด้านการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพในระดับกลางถึงระดับสูง อาทิ อธิบดี ผู้อำนวยการ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ฟิจิ อินโดนีเซีย อิหร่าน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ภูฏาน เนปาล อินเดีย ออสเตรเลีย ศรีลังกา มาเลเซีย มัลดีฟส์ และสิงคโปร์ เป็นต้น และผู้แทนสอศ. สถาบันการอาชีวศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 40 คน เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ในครั้งนี้ประเทศไทยโดยสอศ. เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความเป็นผู้นำ TVET การสร้างเสริมชุดทักษะที่จำเป็นของผู้นำ (วิสัยทัศน์-ความรู้-ทักษะ) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแก้ปัญหาความท้าทายระดับภูมิภาค การอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีในภูมิภาค และการสร้างเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนภายในภูมิภาค โดยดำเนินงานให้สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งปัญหาด้านอาชีวศึกษาที่สำคัญที่พบบ่อย เช่น การขาดคุณภาพ การเข้าถึง และจุดอ่อนของตลาดแรงงานที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ภาวะการเป็นผู้นำอาชีวศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องที่สามารถช่วยในการเปลี่ยนแปลงการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในหน่วยงานและประเทศนั้น ๆ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และการเน้นจุดแข็งของบริบทระดับภูมิภาค ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของผู้นำด้านอาชีวศึกษาไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ตลอดจนการนำนโยบายเร่งด่วนด้านอาชีวศึกษาของภูมิภาคไปใช้กับแผนการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยมุ่งเน้นคุณสมบัติ 3 ประการที่กำหนดความสามารถของผู้นำในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ได้แก่ ความรู้เชิงกลยุทธ์ (วิสัยทัศน์สำหรับการเปลี่ยนแปลง) ความรู้เฉพาะเรื่อง (ความรู้สำหรับการเปลี่ยนแปลง) และ ทักษะการเป็นผู้นำและการบริหารจัดการ (ทักษะสำหรับการเปลี่ยนแปลง) ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ