จิตเวชโคราช แนะใช้ “ 6 วิธี 3 ห้าม ” เตรียมรับมือพายุโซนร้อน “คาจิกิ ” ลดการสูญเสีย เน้นชีวิตรอด ปลอดภัยอันดับแรก!!

ข่าวทั่วไป Tuesday September 3, 2019 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ รพ.จิตเวชนครราชสีมา แนะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ฝนตกหนักคือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เตรียมตัวรับมือน้ำท่วมฉับพลันจากพายุโซนร้อนคาจิกิ ไว้ล่วงหน้า 6 ประการ และเน้น 3 ห้าม เพื่อลดความสูญเสีย โดยเน้นชีวิตรอดปลอดภัยอันดับแรก จดเบอร์โทรศัพท์เพื่อใช้ยามฉุกเฉินอาทิการแพทย์ฉุกเฉิน สายด่วนสุขภาพจิต ส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่ยาใกล้หมดหรือเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดไม่ได้ ให้แจ้งอสม.หรือเจ้าหน้าที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน เพื่อจัดส่งยาถึงบ้าน นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุโซนร้อนคาจิกิ ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งในพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ เป็น 4 ใน 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในช่วง 1-2 วันนี้ ว่า ในส่วนของสถานพยาบาลนั้น รพ.จิตเวชฯได้เตรียมพร้อมจัดบริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง จัดระบบไฟสำรองหากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถใช้การได้ทันที พร้อมทั้งจัดระบบการสื่อสารให้คำปรึกษาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินเชื่อมโยงกับรพ.ลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างเต็มที่ตลอด24 ชั่วโมง นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ในส่วนของประชาชน ขอให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นแม้ว่าในอดีตจะไม่เคยประสบปัญหาในพื้นที่มาก่อนก็ตาม ก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากภัยธรรมชาติอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ การรับมือที่ดีที่สุดคือการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน หมู่บ้าน เพื่อการเอาชีวิตรอดและอยู่อย่างปลอดภัย โดยมีข้อแนะนำ 6 ประการ ดังนี้ 1. ให้เตรียมแผนเผชิญน้ำท่วม ซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว หาทางหนีทีไล่ให้เรียบร้อย โดยเน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรกโดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ และเรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องรองลงมา 2. สำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด ใช้การได้อย่างน้อย 3 วัน 3. เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นไว้ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ไว้ในที่ปลอดภัย 4. ผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว หรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันยาสูญหาย 5.จัดเตรียมระบบไฟสำรองส่องสว่างภายในบ้าน เช่นไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น และ 6.จดเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น เบอร์ญาติสนิท เบอร์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เบอร์การแพทย์ฉุกเฉิน1669 เบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และเบอร์สายด่วน 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย "เมื่อเกิดน้ำท่วมจริงและน้ำท่วมถึงบ้าน ขอให้ตั้งสติให้ดี จะช่วยให้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องคำนึงไว้เสมอ 3 ประการ ก็คือ ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหลแม้ระดับน้ำจะไม่สูงก็ตาม เนื่องจากความเชี่ยวของกระแสน้ำอาจทำให้เสียหลักและล้มได้ ห้ามขับรถในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วมเพื่อลดความเสี่ยงในการจมน้ำ และห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ เนื่องจากกระแสไฟสามารถวิ่งผ่านได้" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า ในกลุ่มของผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง หากรายใดยากินใกล้หมด หรือไม่สามารถเดินทางออกไปพบแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาลได้เนื่องจากฝนตกหนัก ขอให้รีบแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. หรือแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านทุกแห่ง เพื่อที่จะดำเนินการจัดส่งยาไปให้ที่บ้านต่อไป สำหรับในส่วนของชุมชน มีข้อแนะนำการเตรียมพร้อมล่วงหน้า 3 ประการ คือ1. จัดเตรียมแผนการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะความปลอดภัยกลุ่มที่เปราะบาง ได้แก่เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ช่วยกันเฝ้าระวังทรัพย์สินในชุมชน 2. จัดเวรยามเฝ้าระวังระดับน้ำและแจ้งเตือนชุมชนให้ทราบอย่างต่อเนื่อง 3.จัดเตรียมศูนย์กลางให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกและประสานกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลกันในเบื้องต้นได้รวดเร็วและทั่วถึงที่สุด นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ