หูดข้าวสุก เรื่อง (ไม่) เล็ก... รักษาได้

ข่าวทั่วไป Wednesday September 4, 2019 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--โรงพยาบาลรามคำแหง โรคหูดข้าวสุกส่วนใหญ่จะหายเองได้ในระยะเวลาประมาณ 6-18 เดือน การรักษาขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของหูด และควรรักษาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งรอยโรคหายหมด เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และไม่ควรแกะเกาบริเวณหูด " หูดข้าวสุก" เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum ทำให้เกิดตุ่มเนื้อและมีรอยนูนขนาดเล็กบนผิวหนังชั้นนอก เป็นโรคที่พบได้บ่อยเนื่องจากโรคนี้ติดต่อได้ผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง หูดข้าวสุกมีลักษณะเป็นตุ่มสีเนื้อที่ผิวหนัง ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ตรงกลางอาจมีรอยบุ๋มและพบได้ทุกเพศทุกวัย ในเด็ก มักพบบริเวณใบหน้า แขน ขา และติดต่อกันได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังน้อยอยู่ โดยอาจติดต่อระหว่างเล่นกับเด็กคนอื่นที่มีเชื้อ หรือติดจากคนในครอบครัวเดียวกัน วัยรุ่น หนุ่มสาว หรือวัยผู้ใหญ่ มักพบที่อวัยวะเพศได้บ่อยกว่าตำแหน่งอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค รวมถึงการใช้สิ่งของที่มีการปนเปื้อนของเชื้อร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฯลฯ ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีอาการผื่นแดงคันบริเวณหูดข้าวสุกร่วมด้วย ซึ่งอาการผื่นแดงคันนี้จะหายไปเมื่อทำการรักษาหูดข้าวสุก โรคหูดข้าวสุกส่วนใหญ่จะหายเองได้ในระยะเวลาประมาณ 6-18 เดือน การรักษาขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของหูด เช่น การขูด หรือสะกิดออกโดยแพทย์ การจี้ทำลายด้วยความเย็น การทำลายเชื้อโรคโดยการแต้มน้ำยา การจี้ด้วยไฟฟ้า และควรรักษาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งรอยโรคหายหมด เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และไม่ควรแกะเกาบริเวณหูด นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน และเมื่อเป็นหูดข้าวสุกแล้ว ควรงดมีเพศสัมพันธ์ขณะมีรอยโรค และรับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นบริเวณเล็กๆ จะสามารถควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ