ม.อ.ตรัง จับมือ จังหวัดตรัง จัดโครงการ “เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของจังหวัดตรังฯ”

ข่าวทั่วไป Monday September 16, 2019 10:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดโครงการ "เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของจังหวัดตรัง ตามเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมและพะยูนลิบง" โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นายศุภศักดิ์ ศรีหมาน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมการเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล เผยถึงโครงการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของจังหวัดตรังตามเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมและพะยูนลิบง ว่า เป็นโครงการซึ่งจังหวัดตรังและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้ร่วมจัดขึ้นตามแผนพัฒนาจังหวัดตรัง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ให้มีคุณภาพเพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ ข้อ 2 ยกระดับการเข้าถึงและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว และข้อ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยการจัดการเสวนา มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการจัดการการท่องเที่ยวจังหวัดตรังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับการส่งเสริมงานวิจัยและบริหารวิชาการด้านการท่องเที่ยวและประเด็นที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิจัยและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านต่อผู้เกี่ยวข้องในการจัดการท่องเที่ยวจังหวัดตรังตามเส้นทางรถไฟและเกาะลิบง อีกทั้งยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการการท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง ในตอนหนึ่งของการเสวนา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้กล่าวถึง การพัฒนาจังหวัดด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยการพัฒนาทางด้านการขนส่ง การคมนาคมทั้งทางอากาศและทางบก การพัฒนาท้องถิ่นในจังหวัดตรัง ให้สามารถดึงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นออกมาเป็นจุดขายดึงดูดใจนักท่องเที่ยว และยังได้กล่าวถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟให้เป็นขบวนรถไฟเชิงท่องเที่ยวเมืองตรัง ที่จะนำเอาพื้นที่ที่รถไฟแล่นผ่านตั้งแต่อำเภอห้วยยอดถึงอำเภอกันตัง เป็นที่ท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิด ร่วมเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ แล้ว ในช่วงบ่ายยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับปราชญ์ชาวบ้าน และแกนนำชุมชน รวมถึงกิจกรรมแสดงนิทรรศการเมืองเก่า นิทรรศการ "ตรัง...ผืนป่าหญ้าทะเล เมืองหลวง... พะยูนไทย" การสาธิตการทำอาหารพื้นถิ่น และการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ