สกศ.ปิ๊งไอเดีย “ตลาดนัดความรู้” หวังร.ร.จิระศาสตร์ฯนำร่องเครือข่ายจัดการเรียนรู้

ข่าวทั่วไป Wednesday August 3, 2005 13:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สคส.
ในการจัดงานตลาดนัดความรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของกลุ่มโรงเรียน ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดย โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการเป็นเครือข่ายกันทั้งสิ้น 17 แห่ง ได้แก่ผู้บริหาร และคณะครูจากร.ร.จิระศาสตร์วิทยา, ร.ร.เทคโนโลยีอยุธยา, ร.ร.แสนโกศิกนุสรณ์, ร.ร.เสริมมิตรวิทยา, ร.ร.ศิริเสนาวิทยา, ร.ร.สุนทรวิทยา, ร.ร.รอตเสวกวิทยา, ร.ร.มัธยมผดุงวิทยา, ร.ร.อิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ, ร.ร.ผดุงอาชีวะเสนา, ร.ร.ประชาศึกษา, ร.ร.บ้านคลองตะเคียนหมู่ 2 ร.ร.ชุมชนป้อมเพชร, ร.ร.เทศบาลวัดแม่นางปลื้ม, ร.ร.วัดศรัทธาธรรม (สมุทรสงคราม) ร.ร.วัดแก่นจันทร์ (จ.สมุทรสงคราม) และ ร.ร.บ้านเขาวง (จ.อุทัยธานี) นอกจากนี้ยังมี
อ.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ผอ.โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ผู้บริบริหารต้นแบบของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า การจัดงานตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 1 นี้ ตนได้แนวทางจากการเข้าร่วมกิจกรรมตลาดนัดความรู้ผู้บริหารต้นแบบที่ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จัดขึ้น จึงนำรูปแบบตลาดนัดความรู้ ซึ่งเป็นการนำความรู้ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกันบ้าง โดย “ตลาดนัดความรู้การจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้” ที่จัดขึ้นนี้ก็เพื่อทำความรู้จักกับครู และผู้บริหารโรงเรียนที่ทำเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ และเพื่อเป็นการติดอาวุธทางความคิดให้กับ ผู้บริหาร ไปขยายเครือข่ายการจัดการศึกษาสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ และยังเป็นการสร้างขุมความรู้ ของกลุ่มโรงเรียนว่าด้วยการจัดการศึกษาซึ่งเป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงอีกด้วย
ทั้งนี้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและผู้บริหารโรงเรียนจาก 17 แห่งพบว่า ความรู้ที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ และเน้นผู้เรียนเป็นหลัก ได้แก่ จัดการศึกษาที่ต้องเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และของประเทศ และที่สำคัญต้องเชื่อมโยงกับบริบทสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เศรษฐกิจ การทำมาหากิน สุขภาพอนามัย โภชนาการ ซึ่งผู้เรียนจะต้องรู้จักตั้งคำถาม วิเคราะห์ และเชื่อมโยงกับตนเอง และสังคมรอบตัวได้
สำหรับด้านการบริหารจัดการ ครูผู้สอนจะต้องรู้จักพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งโดยการอ่าน เรียนรู้โลกสมัยใหม่ และศึกษาวัฒนธรรม และต้องพัฒนาตนเองโดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน สร้างทีมงาน และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และผู้ปกครอง ชุมชน และภาครัฐ , มีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรสถานศึกษา พัฒนาแหล่งเรียนรู้ และส่งเสริมการหารายได้ระหว่างเรียนโดยเฉพาะกับเด็กที่ขาดทุนทรัพย์ พร้อมกันนี้ครูต้องรู้จักสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอนกันระหว่างสถานศึกษา
ส่วนการเรียนการสอนนั้นปัจจุบันได้มีสถานศึกษาหลายแห่งที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เรียนต่างวัฒนธรรม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน และต้องจัดการเรียนรู้ภาษาที่ตรงกับความต้องการ และทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ,การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ โดยเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียนซึ่งสามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานการศึกษาได้
รศ.ดร.นิพนธ์ กินาวงศ์ ที่ปรึกษาผู้บริหารต้นแบบ สกศ. กล่าวว่า จากแนวทางการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้บริการโรงเรียนและคณะครูผู้สอนจากโรงเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นผลผลิตทางด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และเป็นความรู้ปฏิบัติ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนี้ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการพัฒนาการเรียนรู้และการปฏิรูปการศึกษา ทำให้ สกศ.ต้องการผลักดันให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน ในระดับนโยบายต่อไป ซึ่งอาจจะใช้เครือข่ายของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา และโรงเรียนทั้งหมดที่มาร่วมงานในครั้งนี้ เป็นโรงเรียนต้นแบบนำร่องทำเรื่องการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้กว้างขวางออกไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ประชาสัมพันธ์สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
โทร. 02-6199701 , 02-6196187-8--จบ--

แท็ก ตลาดนัด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ