นักวิจัยด้านน้ำ ผนึกกำลังกู้วิกฤตน้ำ ตั้งเป้า 3 ปี ใช้งานวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ-ลดการใช้น้ำลง 15 %

ข่าวทั่วไป Friday October 4, 2019 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--วารีวิทยา สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยสำนักประสานงานวิจัยการจัดการน้ำเชิงยุทธศาสตร์ จัดการประชุมคณะนักวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมแผนงานการบริหารงานจัดการน้ำขึ้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวของนักวิจัยด้านน้ำระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อนเชื่อมโยงและพัฒนางานวิจัยกว่า 25 โครงการ สู่การบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานวิจัย ส่งต่อข้อมูลแผนงานวิจัยของภาคีเครือข่ายนักจัย เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการองค์ความรู้และสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี คือ 1) ค่าเฉลี่ยการสูญเสียน้ำจากระบบส่งน้ำ (ในการภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน) 2) ประสิทธิภาพการปล่อยน้ำต้นทุนจากเขื่อนในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนบนใต้พื้นที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 85 และ 3) อัตราการใช้น้ำคาดการณ์ในพื้นที่ EEC ลดลงร้อยละ 15 เทียบกับข้อมูลคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC งานนี้มีนักวิจัยด้านน้ำเข้าร่วมในการประชุมกว่า 50 คน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 กลุ่มแผนงาน ประกอบด้วย แผนงานวิจัยกลุ่มที่ 1 พัฒนาการวางแผนน้ำในพื้นที่ EEC โครงการการบริหารและการประมวลผลการศึกษาโครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หัวหน้าโครงการ รศ.ดร. บัญชา ขวัญยืน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน , แผนงานวิจัยกลุ่มที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฎิบัติการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรมเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำเกษตรกรรมและการใช้น้ำต้นทุนที่เหมาะสม หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร. ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และแผนงานวิจัยกลุ่มที่ 3 พัฒนาเทคโนโลยีและสนับสนุนด้านพฤติกรรมผู้ใช้น้ำ โครงการระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการวางแผนงานการบริหารจัดการน้ำ โดย รศ.ดร.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล ตัวแทนกลุ่มแผนงานฯ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร. สุจริต คูณธนกุลวงค์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมแผนงานการบริหารงานจัดการน้ำ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลด้านน้ำทั่วประเทศที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความต้องการรับรู้ข้อมูลและความเสี่ยงหรือผลกระทบที่จะได้รับจากภัยพิบัติโดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องน้ำอยู่แล้ว ตรงกับเรื่องที่แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead)ฯ กำลังขับเคลื่อนแผนงานด้านน้ำอยู่ในขณะนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนผู้ใช้น้ำทั่วประเทศผ่านงานวิจัยที่จะส่งต่อไปถึงมือกลุ่มผู้ใช้น้ำได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยชุดนี้ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของกลุ่มนักวิจัยด้านน้ำที่มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านงานวิจัยเป็นตัวตั้งและนำผลลัพธ์ ความคาดหวังของแต่ละโครงการมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกันคือ ลดค่าเฉลี่ยการใช้น้ำลงร้อยละ 15 และเพิ่มปริมาณแหล่งน้ำต้นทุนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 85 รศ.ดร. บัญชา ขวัญยืน ในฐานะหัวหน้าโครงการแผนงานวิจัยกลุ่มที่ 1 พัฒนาการวางแผนน้ำในพื้นที่ EEC กล่าวว่า แผนงานวิจัยชุดนี้เน้นเรื่องของการประหยัดน้ำ และการทำประเมินความต้องการน้ำในอนาคตของกลุ่มพื้นที่ EEC โดยการดำเนินงานในปีแรก จะเน้นการค้นหาข้อมูลความต้องการการใช้น้ำของทุกภาคส่วนในพื้นที่ EEC เพิ่ม ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคเกษตร และชุมชนเมือง โดยฉพาะความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตรเนื่องจากช่วงปี 2558 เป็นต้นมา พบว่าเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก ทำให้มีการใช้น้ำสูงสุดถึง 52 เท่าจากปกติ ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่เดิมไม่ตรงกับข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน หลังได้ข้อมูลความต้องการใช้น้ำครบทุกภาคส่วน ในปีที่สองจะเลือกพื้นที่เพื่อทำการทดลองและขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ในเขต EEC และนำไปสู่การจัดทำมาตรการลดการใช้น้ำอย่างเต็มรูปแบบในปีที่สามตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้าน รศ.ดร.ภานุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าโครงการแผนงานวิจัยที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสถานการณ์น้ำในอีก 20 ปีข้างหน้า การจะดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนอนาคตน้ำร่วมกันนั้น จำเป็นต้องทำให้ประชาชนมีความสุขกับการดำเนินชีวิต และเข้าใจรูปแบบวิธีการใช้น้ำอย่างประหยัดที่ถูกต้อง ด้วยการจัดทำแผนงานวิจัยที่มุ่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำของประชาชน เพื่อให้เห็นมุมมองใหม่จากการทำวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนประหยัดน้ำและใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ด้วยการใช้เครื่องมือติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ให้น้ำตามความเป็นจริง ขณะที่ รศ.ดร.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล ตัวแทนจากแผนงานวิจัยกลุ่มที่ 3 พัฒนาเทคโนโลยีและสนับสนุนด้านพฤติกรรมด้านน้ำ กล่าวว่า สำหรับแผนงานวิจัยนี้ เน้นการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำให้บรรลุเป้าหมายคือ ลดการสูญเสียน้ำลงร้อยละ 15 และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำร้อยละ 85 โดยแผนงานวิจัยกลุ่มที่ 3 มีด้วยกัน 13 โครงการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ประเด็นแรกของการใช้เทคโนโลยีคือการสร้างระบบฐานข้อมูลที่ใช้ในการสื่อสารมีความถูกต้อง ครอบคลุม และทันสมัย ประเด็นที่ 2 การใช้โปรแกรมคำนวณที่มีความทันสมัยเพื่อพัฒนาและจำลองให้มีความถูกต้องมากขึ้น ประเด็นที่ 3 คือการติดตั้งเครื่องมือในการวัดข้อมูลแบบตามเวลาจริง ช่วยในการบริหารจัดการน้ำของผู้ใช้น้ำเป็นปัจจุบันที่สุด รวมทั้งมีการติดตั้งเครื่องมือเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดข้อมูลน้ำตามพื้นที่ต่างๆ การวัดความชื้นในดิน ลม แสงแดด ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่า เพื่อนำมาคำนวณความต้องการใช้น้ำที่ถูกต้อง เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ และประเด็นที่ 4 คือการประยุกต์ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Machine Learning หรือระบบ Artificial Intelligence (AI) เพื่อหาวิธีการในการบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ยังมีการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในการนำเข้าเครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่และแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน โดยหวังว่าภายหลังจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศนี้จะเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ รศ.ดร. สุจริต ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมแผนงานการบริหารงานจัดการน้ำ คาดหวังว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังสิ้นสุดโครงการ จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการพัฒนาแผนงานวิจัยทั้ง 25 โครงการดังกล่าว ไปสู่พื้นที่ต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งภาคเกษตร กรมชลประทาน โรงงานอุตสาหกรรม นักวิชาการรวมถึงวิศวกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวตนเองในอนาคต
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ