ต้นเดือนหน้ามาแน่! ฝุ่นกระทบกทมฯและปริมณฑลทางตะวันออก ขณะโรคหืดแนวโน้มยังพุ่งเสียชีวิตทะลุสองพัน

ข่าวทั่วไป Friday October 18, 2019 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย วันนี้ (17 ต.ค.) ที่โรงแรมสุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (Thai Asthma Council, TAC) ได้จัดแถลงข่าวงานประชุมวิชาการประจำปี 2562 และมีเวทีเสวนาในหัวข้อ "โรคหืด ว่าด้วยมิติใหม่การรักษาและรับมือฝุ่นพิษปลายปี" ศ.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันโรคหืดข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยโรคหืดเสียชีวิต 2,200 ราย และมีแนวโน้มรุนแรงทุกปี การจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ เน้นเรื่องการทำแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่อาการรุนแรงให้ง่ายขึ้น และเรื่องของการร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการตรวจวินิจฉัยโรค เพราะซับซ้อน หรืออาการคล้ายกับโรคอื่น วินิจฉัยล่าช้าจนอาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะโรคหอบหืดซ่อนเร้น ที่มาด้วยอาการไอเรื้อรัง หรือ "โรคพบร่วม" พร้อมแนะวิธีการดูแลรักษาคนไข้โรคหืด ต้องดูแลแบบองค์รวม ทั้งการรักษาใช้ยาและไม่ใช้ยา ปัจจุบันจึงประยุกต์ใช้ทฤษฎี 4Es ที่คิดค้นขึ้นมาคือการให้คนไข้หันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (Exercise) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (Eating) อีกส่วนสำคัญคือ สิ่งแวดล้อม (Environment) เลี่ยงสิ่งกระตุ้นและที่สำคัญที่สุดคือ อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ซึ่งความเครียดจะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ทาง Facebook Fanpage "Asthma Talk by Dr.Ann" จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ การดูแลโรคหืดและโรคร่วมอื่นๆที่ส่งผลให้โรคหืดแย่ลง ด้าน ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการที่ไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ปกติสภาพอากาศหนาว จะมีความกดอากาศสูง ทำให้ภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีโอกาสที่จะมีผลทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่คาดว่าจะมีการเผาจากฝั่งประเทศกัมพูชา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยเฉพาะฝั่งตะวันออก ซึ่งเกิดประจำทุกปี ทั้งนี้ต้องประเมินทิศทางลม และสภาพอากาศร่วมด้วย ผลกระทบของพีเอ็ม 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง ทำให้การเจ็บป่วยขั้นรุนแรงสูงขึ้นด้วย และหากมองถึงส่วนผลกระทบระยะยาวมากกว่านี้ 10 เท่า ประชาชนจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเดิมย้อนหลังกลับไป ปัญหาหมอกควันจะเกิดขึ้น 1 – 2 เดือน แต่ปัจจุบันเกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 – 5 เดือน ฉะนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหา ด้าน ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ อาจารย์สาขาวิชาเวชเภสัชวิทยาและพิษวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาลัยมหิดล กล่าวว่า กัญชาสามารถช่วยบรรเทาอาการบางโรคได้ แต่ในโรคหืด เนื่องจากกัญชามีปริมาณสารแตกต่างกัน จึงต้องมีแพทย์ควบคุมให้ผู้ป่วยใช้อย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย จากข้อมูลพื้นฐานของกัญชา ซึ่งมีสารเป็นร้อยชนิด แต่ที่นิยมใช้เยอะที่สุดได้แก่ กลุ่มสารแคนนาบินอยด์ และนิยมใช้ทางการแพทย์ 2 ชนิด คือ THC และ CBD ควรแยกมองถึงสรรพคุณ การนำมาใช้ประโยชน์มากกว่าเหมารวมคำว่า "กัญชา"-.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ