เด็กเทคนิคเดชอุดมสุดเจ๋ง! ประดิษฐ์อุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์ระบบทรีอินวัน (3 in 1) ลดปัญหา การโจรกรรมรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ สู่ธุรกิจสร้างยอดขายสุดปัง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 22, 2019 08:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายดนัยฤทธิ์ สมภาวะ นักศึกษาชั้น ปวส. 1 สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนต้องดิ้นรนหาเงินทุก วีถีทางเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และการโจรกรรมรถจักรยานยนต์ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำได้ง่ายและได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูง ประกอบกับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมรถจักรยานยนต์ โดยผู้ร้ายจะนำรถจักรยานยนต์ไปขายหรือถอดชิ้นส่วนแยกเป็นอะไหล่ลักลอบส่งขายไปทางตะเข็บชายแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก จากปัญหาดังกล่าว ตนและเพื่อนๆ ในทีม และนายสุริยา สามแก้ว ครูที่ปรึกษา จึงช่วยกันศึกษาและคิดค้นอุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์ "DTEC Smart Lock" ระบบทรีอินวัน ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากในท้องตลาด คือช่วยล็อครถจักรยานยนต์ได้ทั้งหมวกกันน็อค คันเร่งและก้านเบรกมือในคราวเดียวกัน โดยอุปกรณ์มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำจากแผ่นสแตนเลสอย่างดีออกแบบให้มีความหนาอย่างเหมาะสม มีน้ำหนัก 0.6 กรัม ขนาดกะทัดรัด และมีระบบล็อคด้วยชุดกุญแจที่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งเมื่อล็อค คันเร่งจะไม่สามารถบิดได้และล้อหน้าก็จะถูกล็อคไว้ด้วย ทำให้ไม่สามารถเข็นรถจักรยานยนต์ไปได้ จะต้องมีลูกกุญแจเท่านั้นเพื่อไขเปิดล็อค ถึงจะนำรถออกไปได้ และในกรณีที่มีการใช้เลื่อยหรือคีมตัด ก็จะตัดได้ยากซึ่งต้องใช้เวลานานในการตัด โดยอุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์ "DTEC Smart Lock" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2560 ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต รางวัลชนะเลิศในรายการสมรภูมิไอเดียทางโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3และรางวัล Yong Innovator Awards จากประเทศสิงคโปร์ในงานประกวดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี พ.ศ. 2560 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย นายดนัยฤทธิ์ เล่าให้ฟังถึงการเริ่มต้นว่าทำเป็นธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์ "DTEC Smart Lock"โดยได้ประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์ดังกล่าว แล้วนำไปแสดงสาธิตในเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ และมีประชาชนสนใจเข้ามาติดต่อขอซื้ออุปกรณ์ฯ กันเป็นจำนวนมาก โดย เห็นว่า เป็นอุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์ที่ใช้งานง่าย สามารถล็อคทั้งหมวกกันน็อค คันเร่ง และก้านเบรกมือได้พร้อมกัน มีน้ำหนักเบา ขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวกโดยสามารถเก็บไว้ใต้เบาะรถได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน มีรูปทรงสวยงามทันสมัย ดูแลรักษาง่าย อีกทั้งสะดวกต่อสุภาพสตรีที่นุ่งกระโปรงโดยไม่ต้องก้มลงไปล็อคดิสเบรกที่ล้อในพื้นที่ที่แคบเนื่องจากการจอดรถชิดกันเป็นแถว ซึ่งเมื่อลูกค้าได้ทดลองใช้แล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุ้มค่ามาก และเกิดความสบายใจเวลานำรถจักรยานยนต์ไปจอดไว้ในสถานที่ต่าง ๆ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการถูกโจรกรรมรถจักรยานยนต์และหมวกกันน็อคได้จริง สร้างความปลอดภัยให้กับทรัพย์สิน ตนและเพื่อน ๆ จึงตัดสินใจเขียนเป็นแผนธุรกิจส่งในนามศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา โดยปัจจุบันอุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์นี้ สามารถสร้างยอดขายได้กว่า หมื่นบาทต่อเดือน ทั้งนี้ อุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์ "DTEC Smart Lock" บรรจุในซองหนังสีสันสวยงาม ขายราคา 850 บาท หากสั่งซื้อจำนวน 10 ชิ้นขึ้นไป จำหน่ายในราคา 800 บาท บริการจัดส่งทั่วประเทศ คิดค่าส่งตามน้ำหนัก (เริ่มต้นที่ 50 บาท) สนใจสั่งซื้อได้ที่โทร 085-4912343 , 090-3213772 หรือทาง เฟซบุ๊กที่เพจ DTEC Smart lock หรือศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี" "สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการเองได้ตามนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาคิดค้นสร้างนวัตกรรม ผนวกกับเทคโนโลยีและความรู้ด้านวิชาชีพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้การทำธุรกิจและมีรายได้ระหว่างเรียน เกิดเป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสอศ. โดยธุรกิจอุปกรณ์ล็อครถจักรยานยนต์ "DTEC Smart Lock" ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 20 ทีมธุรกิจดีเด่นในโครงการของอาชีวศึกษาที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในผู้เรียนอาชีวศึกษาที่จะจัดแสดงแผนธุรกิจในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา" นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ