จากห้องเรียนสู่ท้องทุ่ง สร้างคนเก่ง และดี ที่สังคมต้องการ

ข่าวทั่วไป Thursday October 24, 2019 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--มหาวิทยาลัยทักษิณ ม.ทักษิณ และ ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัยเปิดประสบการณ์นอกห้องเรียน ชวนนักเรียนโครงการ SMA ปิดตำรา เดินออกจากห้องเรียนสู่ประสบการณ์ใหม่เพื่อเสริมสร้างทักษะที่อาจตกหล่นของเยาวชนแห่งศตวรรษที่ 21 "เด็กเก่งวิชาการ แต่ต้องไม่ลืมทักษะชีวิต เราให้เด็กออกจากความเป็นอยู่ที่คุ้นเคยไปพบสังคมใหม่ ให้ทิ้งความเป็นคุณหนู ให้รู้จักปรับตัว ซึ่งผู้ปกครองก็เห็นด้วย" ครูประคุณ แสนสุด อาจารย์ประจำโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์- คณิตศาสตร์(SMA)บอกเล่าที่มาของกิจกรรม พัฒนาทักษะชีวิตเยาวชน ด้วยศาสตร์บรรพชน วิถีชีวิตชาวนา ว่า ครูก้าน บรรดิษฐ์ จันทร์ผุด ได้นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ของICOFIS หรือ สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เห็นว่าเป็นรูปแบบที่เรายังไม่เคยทำ น่าสนใจ และตอบโจทย์ จึงนำ น.ร. SMA gen15 ม.2 และSMA gen13 ม.4รวม 201คนลงสู่ชุมชน คลุกโคลนตม เรียนรู้ศาสตร์บรรพชน โดยลงมือปฏิบัติตนเยี่ยงชาวนา เติมเต็มคุณธรรมด้วยการปลูกความกตัญญูในใจให้นักเรียนเป็นคนเก่งและดีที่ติดดิน นักเรียนใช้ชีวิตกับพ่อแม่ชาวนาบุญธรรม เรียนรู้พันธุ์ข้าว การดำนา และวิธีการแบบดั้งเดิมในการแปรรูปข้าวเปลือกจนมาเป็นข้าวสาร และข้าวสวยในจาน เด็กๆ ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ได้สนุกกับการวิดลูกคลัก ก่อนจะนำกลับบ้านมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ผู้ปกครองนักเรียนที่ตามมาดูความเป็นอยู่ของลูกก็ได้ลุยโคลนลงท้องนาเล่นกีฬาร่วมกับพ่อแม่บุญธรรมด้วย ( "ลูกคลัก" คือปลาน้ำจืดที่ไปรวมกันบริเวณที่ต่ำสุดของแปลงนา หนองน้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติในหน้าแล้ง ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะมีน้ำเหลืออยู่น้อย ปลาจึงคลุกหรือฝังตัวลงในโคลนตม เรียกว่า"ปลาคลัก" ปลาคลักในนาส่วนใหญ่จะเป็นลูกปลาที่แม่ปลาวางไข่ไว้ก่อนจะหนีตามน้ำไปอยู่ในแหล่งน้ำลึก จึงเรียกว่า "ลูกคลัก" ) คุณจงชัย ชินอัครวัฒน์ ผู้ปกครอง น.ร.ชั้น ม.4 บอกว่าเป็นโอกาสที่เด็กจะได้สัมผัสท้องทุ่ง ได้สัมผัสธรรมชาติจริงๆ "ส่วนตัวชีวิตจริงลูกผม ไม่ค่อยได้สัมผัสท้องทุ่ง ได้แค่ขับรถผ่าน ... ครั้งนี้จะได้รู้จักของจริง"เช่นเดียวกับคุณสุชาติ แซ่ก้วยผู้ปกครอง นักเรียนชั้น ม.2 เชื่อว่าลูกจะได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม และเสริมว่าประโยชน์ที่ได้รับอีกประการคือ การให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเองมากขึ้น "ทุกบ้านเตรียมการเพื่อต้อนรับลูกของตนเอง คนในหมู่บ้านก็ตื่นตัวเพื่อต้อนรับคนภายนอก ทำให้บ้านกล้วยเภาเป็นที่รู้จักมากขึ้น" นายพนม อินทร์ศรี ผู้ใหญ่บ้านกล้วยเภา หมู่ที่ 5 ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง กล่าวพร้อมกับชื่นชม "เด็กๆสามารถปรับตัวได้ดี มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่บุญธรรม ไม่ดื้อ เรียบร้อยและมีกาลเทศะแต่ก็เล่นสนุกกันเต็มที่ตามประสาเด็ก" "โครงการนี้ได้ผลเกินความคาดหวัง ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองเรียกร้องอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก ซึ่งทางโรงเรียนร่วมกับสถาบันปฏิบัติการชุมชนฯ มหาวิทยาลัยทักษิณ จะนำประเด็นต่างๆ มาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เช่น การเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระที่นักเรียนเรียนในชั้นเรียน เป็นต้น" อาจารย์ศิริพร พิทักษ์จินดา หรือ ครูแป๋วผู้อยู่ร่วมกิจกรรมตลอด 4 วัน กล่าว"การศึกษาควรจะปลูกฝังและสนับสนุนให้เด็กๆได้สัมผัสชุมชนและสังคมภายนอก เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่เป็นคนเพื่อคน โดยเชื่อมโยงเนื้อหาในหลักสูตรกับกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตนอกห้องเรียน" อาจารย์ ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี ผู้อำนวยการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ ม.ทักษิณ ผู้พัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการในชุมชน โดยออกแบบจัดการห้องปฏิบัติการชุมชน ที่มีลักษณะเป็น Social Lab เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียน โดยร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นองค์กรชุมชนและผู้นำชุมชน 6 ชุมชน ในจังหวัดพัทลุง เพื่อให้บริการกับนิสิต นักศึกษา นักเรียนและผู้ที่สนใจได้ฝากทิ้งท้าย"เราจะร่วมกันสืบสานศาสตร์พระราชา รักษาศาสตร์บรรพชน ส่งต่อสู่ลูกหลานให้รู้จักพอเพียง เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ