รับมือโรคแอนแทรคโนสในสตรอว์เบอร์รี

ข่าวทั่วไป Tuesday October 29, 2019 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กรมวิชาการเกษตร เพื่อเกษตรกร ในระยะนี้จะมีหมอกในตอนเช้า และมีอากาศเย็นในตอนกลางคืน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีเฝ้าระวังการระบาดของโรคแอนแทรคโนส สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของสตรอว์เบอร์รี มักพบอาการบนก้านใบและลำต้น มีแผลสีม่วงแดงขนาดเล็กขยายลุกลามไปตามความยาวของก้านใบและลำต้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบริเวณแผลแห้ง ทำให้เกิดรอยคอด หากอาการรุนแรง ต้นจะเหี่ยว และตายในที่สุด อาการบนผล พบแผลฉ่ำน้ำสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อรอบขอบแผลสีซีด แผลยุบตัวลง หากอาการรุนแรง แผลจะขยายใหญ่จนทำให้ผลเน่า ในสภาพที่มีอากาศชื้นอาจพบกลุ่มสปอร์สีส้มของเชื้อราสาเหตุโรคอยู่บริเวณแผล ส่วน อาการบนไหล จะมีแผลเล็กสีม่วงแดงขยายลุกลามไปตามความยาวของสายไหล ต่อมาแผลที่ขยายยาวจะเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล ทำให้เกิดรอยคอดของไหลบริเวณที่เป็นแผล เมื่อย้ายต้นจากไหลที่มีการติดเชื้อมาปลูกหากสภาพอากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรค สตรอว์เบอร์รีจะแสดงอาการใบเฉา ต่อมาจะเหี่ยวอย่างรวดเร็ว และพบว่ากอด้านในจะเน่าแห้งสีน้ำตาลแดง หรือบางส่วนเป็นแผลขีดสีน้ำตาลแดง และต้นจะตายในที่สุด แนวทางในการป้องกันกำจัด เกษตรกรต้องหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก กรณีพบโรคเริ่มระบาดให้งดการให้น้ำแบบพ่นฝอย ควรให้น้ำแบบ ระบบน้ำหยด จากนั้น ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟลูโอไพแรม+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25%+25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟลูโอไพแรม+ทีบูโคนาโซล 20%+20% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 วัน สำหรับแปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตสตรอว์เบอร์รีแล้ว ให้เกษตรกรเก็บซากพืชนำไปทำลายนอกแปลงปลูก และควรเลือกใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค จากนั้น เกษตรกรควรไถดินให้ลึกและพลิกหน้าดินตากแดดหลายๆ วัน เพื่อทำลายเชื้อสาเหตุโรคที่ติดอยู่กับเศษซากพืช และใส่ปูนขาวปรับสภาพดิน ก่อนปลูกพืชฤดูถัดไป อีกทั้งควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ