อพท. เตรียมขยายผลพื้นที่พิเศษสู่มาตรฐานเมืองสร้างสรรค์โลก

ข่าวทั่วไป Tuesday November 12, 2019 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. เตรียมขยายผลนำแนวคิดด้านแผนงานการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น และทรัพยากรที่โดดเด่นของพื้นที่ ต่อยอดพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษอื่นๆ มุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (Creative Cities Network) เป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่ยูเนสโกดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของโลก โดยเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2547 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติของภาคประชาคม ประชาชน เอกชน และสาธารณะ ซึ่งยูเนสโกได้ให้คำจำกัดความว่า "Creative City" คือ การร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่น และภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสานโดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ ปี 2562 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) จำนวน 66 เมืองทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเครืองข่ายเมืองสร้างสรรค์ 2 เมือง คือ กรุงเทพมหานคร ด้านการออกแบบ (City of Design) และสุโขทัย ด้านศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) รวมขณะนี้มีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว 246 เมืองทั่วโลก ทั้ง 2 เมืองในประเทศไทย ได้รับคัดเลือกเพราะ เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาการมีส่วนร่วม และขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่ายในระดับสากล สร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเมืองสมาชิก นำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 โดยกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์ ในด้านการออกแบบเมือง มีการยกระดับความรู้ดั้งเดิม เสริมสร้างด้วยการบูรณาการร่วมกับสหสาขาวิชาต่างๆ ทั้งด้านการวางผังเมือง สถาปัตยกรรมและเทคโนโลยี ขณะที่สุโขทัยนอกจากเป็นเมืองมรดกโลกแล้ว ยังคงเอกลักษณ์ทางด้านศิลปะ หัตถกรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ประธานกรรมการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนและผลักดันแนวคิดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดสุโขทัยว่า ได้วางแนวทางการพัฒนาจังหวัดสุโขทัยภายหลังได้รับการประกาศเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) จากองค์การยูเนสโก โดย อพท. จะร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวม ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดสุโขทัย โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นปัจจัยในการขยายโอกาสทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นถิ่น เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการพาณิชย์แก่ผู้ผลิตงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตลอดจนผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก แนวทางการทำงานดังกล่าวจะส่งผลต่อการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดและภาพรวม และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม และความร่วมมือระหว่างจังหวัดสุโขทัยกับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกกว่า 246 เมืองจากทั่วโลก โดยการทำงานต้องอาศัยความร่วมมือจากจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทุกภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมายของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ นับจากนี้ไป อพท. และจังหวัดสุโขทัย จะเร่งบูรณาการความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมในการใช้ UNESCO Creative City เป็นโมเดลสำคัญของการพัฒนาเมือง ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม สร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ รวมถึงบุคคลที่ด้อยโอกาส ได้นำแนวทางที่เป็นประโยชน์ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ส่งต่อความรู้สึกความหวงแหนและความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีการพัฒนาพื้นที่หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และส่งเสริมขีดความสามารถในการสร้างสรรค์การผลิต และบริการทางวัฒนธรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามเป้าหมายการพัฒนาตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2560-2564 ***ขยายผลดึงเมืองในพื้นที่พิเศษมุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์*** ด้านการขยายผล ในปี 2563 มอบนโยบายให้ อพท. นำแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ที่มุ่งมั่นดำเนินการส่งเสริม และสนับสนุนการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และทรัพยากรของแต่ละท้องถิ่น มาสร้างสรรค์ให้เกิดการพัฒนาและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกระดับในพื้นที่แต่ละจังหวัด เป้าหมายคือเมืองในพื้นที่พิเศษตามพระราชกฤษฎีกาเดิม ได้แก่ น่าน สุพรรณบุรี เชียงราย และเพชรบุรี เพื่อเตรียมพร้อมสู่การยื่นใบสมัครเสนอขอเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ในปี 2564 และนำประโยชน์จากโมเดลการพัฒนานี้ไปใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อความยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (Creative Cities Network) เป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่ยูเนสโกดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของโลก โดยเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2547 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติของภาคประชาคม ประชาชน เอกชน และสาธารณะ อย่างไรก็ตามปี 2562 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) จำนวน 66 เมืองทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเครืองข่ายเมืองสร้างสรรค์ 2 เมือง คือ กรุงเทพมหานคร ด้านการออกแบบ (City of Design) และสุโขทัย ด้านศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) รวมขณะนี้มีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว 246 เมืองทั่วโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ