อพวช. เปิดคลังตัวอย่างมดที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมการประชุมมดโลก ครั้งที่ ๑๒

ข่าวทั่วไป Wednesday November 13, 2019 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ วันนี้ (๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒) เวลา ๑๐.๐๐ น. ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้การต้อนรับคณะนักวิชาการและผู้เข้าร่วมการประชุมมดโลก ครั้งที่ ๑๒ ในการเดินทางเข้ายี่ยมชมคลังตัวอย่างมดที่ใหญ่และดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. พร้อมเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า (เป็นการเฉพาะกิจ) แหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งใหม่ของประเทศที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน บนเนื้อที่ ๔๒ ไร่ มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในเดือนปลาย ธ.ค. ๒๕๖๒ ณ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า การประชุมมดโลกเป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุก ๒ ปี โดยเครือข่ายการศึกษามดหรือเรียกย่อว่า ANeT ในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมดโลก ครั้งที่ ๑๒ ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดยความร่วมมือของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสมาคมผู้ประกอบการกำจัดแมลง เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายฯ จากประเทศไทยและนักวิจัยมดต่าง ๆ จากทั่วโลก และพัฒนาศาสตร์ด้านมดให้ก้าวหน้าและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง อาทิ การควบคุมสัตว์รบกวน (Pest Control) พร้อมทั้งสร้างความร่วมมืออันดีในการวิจัยระดับนานาชาติระหว่างสมาชิกเครือข่ายฯ และนักวิจัยกลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย ในส่วนของ อพวช. เราให้ความสำคัญการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษาวิจัย การสำรวจ และเก็บรวบรวมตัวอย่างอ้างอิง โดยเราคาดหวังว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย รวบรวมวัสดุอุเทศ เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างนักวิชาการ และนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจ และประชาชนโดยทั่วไป เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอนุกรมวิธาน และสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ