จิตเวชโคราช เปิดแผนบริการสุขภาพจิตเขตนครชัยบุรินทร์ปี 63 เน้นเพิ่มการเข้าถึงการรักษาถ้วนทั่ว เพิ่มไอคิว อีคิว

ข่าวทั่วไป Thursday November 28, 2019 13:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ รพ.จิตเวชนครราชสีมา เปิดแผนบริการสุขภาพจิตใน4จังหวัดอีสานตอนล่างหรือเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ในปี 2563 เน้นเพิ่มการเข้าถึงการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วย 4โรคสำคัญใกล้บ้าน คือซึมเศร้า จิตเภท ออทิสติก สมาธิสั้น และป้องกันการฆ่าตัวตายโดยเน้นการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งทางกายและจิต มีประวัติทำร้ายตัวเอง พร้อมเร่งเพิ่มไอคิวและอีคิวเด็ก และพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้ได้สเปคเด็กยุคดิจิตอล 3 คิด คือคิดสร้างสรรค์ คิดบวกและคิดให้ นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า รพ.จิตเวชฯได้ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดใน4จังหวัดอีสานตอนล่างในเครือข่ายของเขตสุขภาพที่ 9 หรือเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากรสาธารณสุขเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชในในพื้นที่ ในปีงบประมาณ2563 ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมประมาณ 6.7 ล้านคน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ถึง 30 ก.ย. 2563 เพื่อให้บรรลุตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ของกรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2561-2565 ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งกำหนดค่าเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดแผนฯในพ.ศ. 2565 ใน 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1. เด็กไทยมีระดับสติปัญญาหรือไอคิว(IQ)เฉลี่ยมากกว่า 100 จุดขึ้นไป 2.ร้อยละ 80 ของเด็กไทยมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว (EQ) อยู่ในเกณฑ์ปกติขึ้นไป 3.อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เกิน 6.3 ต่อแสนประชากร และ 4. ร้อยละ 85 ของคนไทยมีสุขภาพจิตดี นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า แผนขับเคลื่อนการจัดบริการสุขภาพจิต แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่เจ็บป่วยทางจิตและมีปัญหาสุขภาพจิต จะเน้นเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาและฟื้นฟูใกล้บ้านเพื่อให้หายขาดหรือทุเลา โดยเฉพาะ 4 โรคหลักที่พบบ่อยในกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มเด็ก ในกลุ่มผู้ใหญ่ได้แก่โรคซึมเศร้า คาดใน 4 จังหวัดมีผู้ป่วย 148,564 คน จะเพิ่มการเข้าถึงให้ได้มากกว่าร้อยละ 68 ,โรคจิตเภทคาดมีผู้ป่วย 44,018 คน จะเพิ่มให้ได้ร้อยละ 90 ส่วนกลุ่มโรคในเด็ก ได้แก่ออทิสติก คาดว่ามีเด็กอายุ 2-5 ขวบป่วย 1,769 คน จะเพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงบริการรักษาและฟื้นฟูให้ได้ร้อยละ 45 และโรคสมาธิสั้นที่พบในเด็กอายุ 6-15 ปี คาดว่ามีป่วย 43,216 คน จะเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ได้ร้อยละ 25 ซึ่งในปีที่ผ่านมาเข้าถึงบริการร้อยละ 20 โดยเชื่อมโยงการดูแลร่วมกับโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่อยู่ในระบบโรงเรียน เน้นการตรวจคัดกรองค้นหาเด็กที่พฤติกรรมและอารมณ์ผิดปกติ และดูแลร่วม3 ฝ่ายคือครู หมอ และพ่อแม่ สำหรับการป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาที่พบในพื้นที่ส่วนใหญ่มาจากเรื่องความสัมพันธ์ เช่นถูกดุด่า ทะเลาะกับคนใกล้ชิด ร่วมกับเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นปัญหาการดื่มสุรา มีโรคประจำตัวหรือปัญหาเศรษฐกิจร่วมด้วย ในปี 2563 นี้ จะเน้นการเฝ้าระวังและดูแลกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่นกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังทั้งโรคทางกายและทางจิต ผู้ที่เผชิญปัญหาชีวิตทั้งเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ การเรียน ผู้ที่มีประวัติทำร้ายตัวเอง เพื่อป้องกันการทำร้ายตัวเอง และไม่ทำร้ายตัวเองซ้ำอีก นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อว่า อีก 2 กลุ่มคือกลุ่มคนไม่ป่วยและกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่นวัยรุ่น จะเน้นที่การป้องกัน และการส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตดี โดยบูรณาการร่วมไปกับทางกาย เช่นการดูแลตามกลุ่มวัย ได้แก่กลุ่มเด็กวัยก่อนเรียน วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ภายใต้กลไกการทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอหรือพชอ. ซึ่งเป็นการทำงานร่วมของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญ เรื่องการสร้างไอคิว อีคิวและพัฒนาการให้สมวัยอย่างครบถ้วนแล้ว ยังเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยในยุคดิจิตอล ให้มีคุณสมบัติ 3 คิด หรือเรียกว่า ซี-พี-อาร์(C-P-R) ตามนโยบายของกรมสุขภาพจิต คือ มีความคิดสร้างสรรค์ (Creation) คิดบวก (Positive ) และคิดให้ ( Response to society) คือมีความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำประโยชน์ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะต้องปลูกฝังผ่านการเลี้ยงดูเป็นสำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ